PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คดีฟิลิปปินส์ฟ้องจีนกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้


คดีฟิลิปปินส์ฟ้องร้องจีนในเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ เป็นคดีที่รอคอยกันมาตั้งแต่ปี 2546 เมื่อฟิลิปปินส์นำเรื่องฟ้องร้องในปีนั้น แต่จีนประกาศชัดไม่ยอมรับอำนาจอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกและจะไม่ทำตามคำตัดสิน
ในคดีนี้ฟิลิปปินส์กล่าวหาว่า การดำเนินการด้านดินแดนใดๆของจีนในทะเลจีนใต้ถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ จีนนั้นอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ถึง 90% ซึ่งรวมไปถึงเกาะปะการังและหมู่เกาะอีกหลายแห่งที่ประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศต่างอ้างเป็นของตน
สำหรับอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ทำงานภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติเรื่องกฎหมายทางทะเล หรือ UNCLOS ที่ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ต่างก็ลงนามทั้งคู่
คำตัดสินที่ออกมาจะถือว่ามีผลในทางกฎหมาย แต่คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้เป็นไปตามนั้น 
อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ชี้ว่า เรื่องนี้แม้จีนจะปฏิเสธไม่เข้าร่วม และไม่ยอมรับอำนาจของอนุญาโตตุลาการรวมทั้งจะไม่ปฏิบัติตาม แต่ในด้านหนึ่ง จีนจะเสียชื่อเสียงอย่างมาก หากคำตัดสินในวันนี้ออกมาเป็นคุณกับฟิลิปปินส์มากกว่าจีนและจีนไม่ทำตาม โดยเฉพาะประเด็นว่าเป็นประเทศที่ไม่ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น คำตัดสินในคดีนี้ยังจะถือเป็นแม่แบบสำหรับการตัดสินในคดีทำนองเดียวกันอื่นๆอีกด้วย อีกประการหนึ่ง คำตัดสินใจคดีนี้อาจนำไปสู่ความตึงเครียดให้ทวีขึ้นระหว่างจีน ฟิลิปปินส์ และรวมไปถึงสหรัฐฯ
มีผู้ออกมาเตือนแล้วว่า หากจีนแสดงปฏิกิริยารุนแรงตอบโต้ เรื่องนี้อาจส่งผลเสีย เพราะขณะนี้เห็นได้ชัดว่า จีนกำลังระดมกำลังต่อต้านคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ขณะที่สหรัฐฯส่งเรือรบและเครื่องบินรบไปประจำเพราะคาดหวังว่าจะมีแรงเสียดทานเกิดขึ้น 
บทบรรณาธิการในนสพ.โกลบอลไทมส์ที่เป็นนสพ.แนวชาตินิยมของรัฐบาลจีนออกมาเรียกร้องทันทีให้จีนเตรียมตัวเพื่อรับมือ “การเผชิญหน้าทางกำลัง” ในขณะที่เรือรบของจีนก็ไปซ้อมรบใกล้หมู่เกาะพาราเซลที่เป็นต้นตอของการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ด้วย
ขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการบอกว่า คณะมีอำนาจในอันที่จะตัดสินคดีนี้รวมทั้งอีก 7 คดีจากในบรรดา 15 คดีที่ฟิลิปปินส์ร้องเข้าไป นอกจากนั้นคณะอนุญาโตตุลาการยังกำลังพิจารณาว่า ควรจะตัดสินอีก 8 คดีหรือไม่ 

ในส่วนของจีน จีนได้พยายามหาเสียงสนับสนุนจากบรรดาประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนความเห็นของจีนที่ว่า ไม่ควรจะยอมรับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ นักการทูตจีนหลายคนออกมาเขียนบทความอธิบายจุดยืนของรัฐบาลจีนโดยลงตีพิมพ์ในสื่อภาษาอังกฤษหลายแห่งทั่วโลก และจีนบอกว่า ขณะนี้มีประเทศต่างๆราว 60 ประเทศที่เห็นว่า ไม่ควรจะยอมรับคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ แต่มีแค่ไม่กี่รายที่แสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผย

ในคำร้องของฟิลิปปินส์ที่มีถึงคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2546 นั้น ฟิลิปปินส์คัดค้านข้ออ้างของจีนในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมทั้งที่ไปดำเนินการต่างๆกับพื้นที่ทะเลจีนใต้ โดยระบุว่า เป็นเรื่องขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าจีนเข้าแทรกแซงในหลายเรื่องเช่นเรื่องการทำประมง การขุดทรายเพื่อสร้างเกาะเทียม สร้างอันตรายต่อการเดินเรือ และอื่นๆ และยังได้ร้องขอให้อนุญาโตตุลาการปฏิเสธข้ออ้างของจีนเรื่องมีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทางทะเลซึ่งข้ออ้างดังกล่าวทำให้จีนประกาศว่าตนเองถือกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ถึง 90% ดังปรากฏในแผนที่ของจีน

บิลล์ เฮย์ตัน ผู้เขียนหนังสือ South China Sea: The struggle for power in Asia บอกว่า โดยหลักๆแล้ว เนื้อหาตามคำร้องของฟิลิปปินส์ต้องการให้อนุญาโตตุลาการตัดสินว่า สิ่งที่จะยึดเป็นจุดสำคัญในการบ่งบอกเขตแดนในพื้นที่นี้มีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ตัดสินได้ว่า แต่ละประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์นั้นควรจะมีพื้นที่แค่ไหน เช่น ในแผ่นดินหรือปะการังที่ผุดโผล่ให้เห็นช่วงน้ำลด ซึ่งหลายแห่งโผล่ให้เห็นเฉพาะในเวลาน้ำลดเท่านั้น หรือเรื่องของการกำหนดพื้นที่ของทะเล รวมถึงการกำหนดคำว่า “กองหิน” ซึ่งให้คำจำกัดความกันเอาไว้ว่าเป็นอะไรก็ตามที่อยู่เหนือผิวน้ำในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงขนาด ในกรณีของสิ่งที่เรียกว่า “กองหิน” จะมีพื้นที่ทางทะเล 12 ไมล์ทะเลโดยรอบ ส่วน “เกาะ” ที่ถือว่า “คนสามารถอาศัยอยู่ได้โดยลำพังหรือมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเอง” จะได้พื้นที่ทางเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเลโดยรอบ ดังนั้นหากคณะอนุญาโตตุลาการตัดสินว่า หมู่เกาะสแปรทลีย์ที่จีนเข้าไปถือครองในเวลานี้ เป็นเกาะตามคำจำกัดความนี้ จีนก็จะไม่สามารถอ้างกรรมสิทธิ์ 200 ไมล์ทะเลโดยรอบได้
ด้านประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ นายดูแตร์เต้บอกว่า ฟิลิปปินส์พร้อมจะร่วมแบ่งปันทรัพยากรในทะเลจีนใต้เพื่อการพัฒนาร่วมกับจีนหากอนุญาโตตุลาการตัดสินเป็นคุณกับฝ่ายตน ท่าทีอันนี้แตกต่างไปจากของผู้นำคนก่อน
ภาพประกอบ
ภาพแรก จีนเร่งก่อสร้างสิ่งต่างๆบนหมู่เกาะบางแห่งในทะเลจีนใต้ นับตั้งแต่ที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจีนเป็นต้นมา
ภาพที่ 2 เรือรบจีนลาดตระเวนก่อนการตัดสิน
ภาพแผนที่ทะเลจีนใต้ที่เป็นพื้นที่ข้อพิพาท แหล่งที่มา UNCLOS, CIA

ไม่มีความคิดเห็น: