PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คำชี้แจง ป.ป.ช. คดีจำนำข้าว VS คดีประกันรายได้

คำชี้แจง ป.ป.ช. คดีจำนำข้าว VS คดีประกันรายได้

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 16:58 น.
เขียนโดย
isranews
nacclogo1
เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2557 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งเอกสารชี้แจงกรณีที่แฟนเพจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) “Yingluck Shinawatra” โพสต์ข้อความ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2557 โจมตีการทำงานของ ป.ป.ช. กรณีที่มีมติแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีถอดถอนกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พร้อมนัดให้มารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว ในวันที่ 27 ก.พ.2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2 ฉบับ 1.ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีโครงการจำนำข้าว และ 2.ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีไต่สวนโครงการระบายข้าวสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
มีเนื้อหาดังนี้
---
1.ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีโครงการจำนำข้าว
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2557) เวลา 14.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงว่า ด้วยปรากฏข้อมูลทางสื่อมวลชน Social Media ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ลง Facebook ส่วนตัว กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเรื่องการทุจริตของรัฐบาลและของนางสาว ยิ่งลักษณ์ฯ ในโครงการรับจำนำข้าว สรุปความว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นโครงการที่ดีตนมิได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาและเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเฉพาะตนได้ทำหนังสือขอทราบพยานหลักฐาน และคัดค้านกรรมการ ป.ป.ช. (ศ.วิชา มหาคุณ) แต่ก็ไม่ได้รับตอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เร่งรีบร้อน เมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นเช่นทุจริตโครงการระบายข้าวเมื่อปี 2552 และ ปรส. เป็นต้น เป็นไปในลักษณะที่จะถูกสังคมกล่าวหาได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประสงค์จะล้มล้างรัฐบาล นั้น
ขอเรียนชี้แจงว่าทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาเนื่องมาจากพรรคประชาธิปัตย์ร้องต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นการละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ไม่ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นผลมาจากคำกล่าวหาเดิมของ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่กล่าวหานายกรัฐมนตรีมาพร้อมกับ กรณี G to G หากแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับพิจารณากรณี G to G ในเบื้องต้นก่อน โดยไม่ทิ้งประเด็นเรื่องนโยบายที่ผิดพลาดและความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งที่ได้มีการทักท้วงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วถึง 2 ครั้งแต่ไม่ยับยั้ง ดังนั้น ในกระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเริ่มมีการไต่สวนตั้งแต่ นโยบายของรัฐความหมายของคำว่าจำนำ ความคิดเห็นทางวิชาการ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง(คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ) แล้วจึงลงสู่กระบวนการไต่สวนเรื่อง G to G ทั้งนี้ได้เริ่มไต่สวนมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2557 รวมแล้วเป็นเวลา หนึ่งปีเศษ มิใช่ 21 วัน ตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ กล่าวแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการขอทราบพยานหลักฐานและการคัดค้านกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แจ้งให้รักษาการนายกรัฐมนตรีทราบแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
---
2.ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีไต่สวนโครงการระบายข้าวสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2557) เวลา 14.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงว่า กรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ฯ ว่าทุจริตโครงการระบายข้าว เมื่อปี 2552 นั้น เป็นกรณีกล่าวหาว่าทุจริตในการระบายข้าวและมีกรณีร้องขอให้ถอดถอนนางพรทิวา นาคาศัย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กรณีเดียวกัน โดยมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดการไต่สวนจึงล่าช้ากว่าปกติ ขอเรียนชี้แจงว่า ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์คณะไต่สวนคดีดังกล่าวนั้น ได้มีการดำเนินการไต่สวนต่อเนื่องตลอดมา เป็นกรณีฮั้วประมูลมีเอกสารประกอบเป็นจำนวนมาก และมีอุปสรรคในการดำเนินการ เนื่องจากไม่สามารถนำเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาได้ เพราะบุคคลที่ครอบครองเอกสารปฏิเสธอ้างว่าไม่มีเอกสารเนื่องจากถูกน้ำท่วม แม้แต่ส่วนราชการก็ไม่ยอมมอบเอกสาร อ้างว่ามีการขนย้ายตอนน้ำท่วมไม่สามรถหาเอกสารได้ จนครั้งหลังสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ได้เตือนไปอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นกรมการค้าต่างประเทศ อคส. และ อตก. แต่ยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวจนกระทั่งบัดนี้ อันได้แก่เอกสารดังต่อไปนี้
1. เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี 2552
1.1 สำเนาบันทึกกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เรื่อง การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ. 2552
1.2 สำเนาบันทึกกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งองค์การคลังสินค้า เรื่อง การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ. 2552
1.3 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2552 จำนวน 15 สัญญา (สัญญาซื้อขายข้าวสาร เลขที่ คชก. ซข. 24-38)
1.4 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2552 ทุกฉบับ
1.5 สำเนาบันทึก ด่วนที่สุด ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวสารเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรทั้งหมด และระงับการอนุญาตให้ภาคเอกชนที่ชำระเงินค่าข้าวสารบางส่วนตามสัญญาซื้อขายข้าวสาร ทำการขนย้ายข้าวสารออกจากคลังกลาง
1.6 รายละเอียดผลการพิจารณาของกรมการค้าต่างประเทศหรืออัยการสูงสุดเกี่ยวกับการยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรทั้งหมด และระงับการอนุญาตให้ภาคเอกชน ที่ชำระเงินค่าข้าวสารบางส่วนตามสัญญาซื้อขายข้าวสาร ทำการขนย้ายข้าวสารออกจากคลังกลาง
1.7 รายละเอียดการระบายข้าวสารที่ซื้อขายตามสัญญาออกจากคลังสินค้าทุกแห่ง
1.8 สำเนาบันทึกการคืนเงินผู้ซื้อที่ได้ชำระเงินค่าข้าวสาร แต่ยังไม่ได้รับมอบข้าวสารและการคืนหลักประกันสัญญาซื้อขาย
1.9 สำเนาเอกสารหลักฐานการส่งออกข้าวสารออกนอกราชอาณาจักร
1.10 สำเนาบันทึก ที่ อคส. 9000/98 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552 เรื่อง การประชุมผู้ซื้อข้าวสารตามสัญญาซื้อขายเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 14 ราย และสำเนาบันทึก ที่ อคส. 1091/419 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552
1.11 รายละเอียดการจำหน่ายข้าวสารตามสัญญาซื้อขาย และสำเนาบันทึกการคืนเงินผู้ซื้อ     ที่ได้ชำระเงินค่าข้าวสาร แต่ยังไม่ได้รับมอบข้าวสาร และการคืนหลักประกันสัญญาซื้อขาย
1.12 สำเนาเอกสารหลักฐานการส่งออกข้าวสารนอกราชอาณาจักร จำนวน 6 สัญญา
2. เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ. 2553
2.1 สำเนาบันทึกกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เรื่อง การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล ปี 2553
2.2 รายละเอียดการระบายข้าวสารที่ซื้อขายตามสัญญาออกจากคลังสินค้าทุกแห่ง
2.3 สำเนาบันทึกการคืนเงินผู้ซื้อที่ได้ชำระเงินค่าข้าวสาร แต่ยังไม่ได้รับมอบข้าวสารและการคืนหลักประกันสัญญาซื้อขาย
2.4 สำเนาเอกสารหลักฐานการส่งออกข้าวสารออกนอกราชอาณาจักร
2.5 สำเนาบันทึกกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งองค์การคลังสินค้า เรื่อง การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ. 2553
2.6 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2553 (เฉพาะสัญญาซื้อขายข้าวสาร เลขที่ คชก. ซข. 62-63)
2.7 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ปี พ.ศ. 2553 (สัญญาซื้อขายข้าวสาร เลขที่ คชก. ซข. 43)
2.8 รายละเอียดการจำหน่ายข้าวสารตามสัญญาซื้อขาย และสำเนาบันทึกการคืนเงินผู้ซื้อที่ได้ชำระค่าข้าวสาร แต่ยังไม่ได้รับมอบข้าวสาร และการคืนหลักประกันสัญญาซื้อขาย จำนวน 23 สัญญา
ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารมาชี้แจงโดยด่วนแล้ว
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
---

ไม่มีความคิดเห็น: