PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

เปิดโฉมทีมเจรจาฝ่ายไทย....กับMara Patani

เปิดโฉมทีมเจรจาฝ่ายไทย....กับMara Patani
"พล.อ.อักษรา"ชึ้แจง"พูดคุยสันติสุข"หวังลดความตั้งใจ (Intention) ในการใช้ความรุนแรงของผู้เห็นต่างจากรัฐ ต่างกับวิธีคิดแบบโบราณในการชิงไหวชิงพริบให้ได้เปรียบในเวทีพูดคุย เผยฝ่ายไทยตั้งคณะทำงานจัดทำร่างชุดความคิดแล้ว ขณะที่ทั้ง 3 ฝ่าย เห็นชอบตั้งคณะทำงานด้านเทคนิคร่วม
พล.อ.อักษรา เกิดผล หน.คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคำชี้แจงว่า ตลอดห้วงระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ใช้กำลังทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ใช้มาตรการทางกฎหมาย ใช้การปฏิบัติการทางทหาร และงานมวลชนทุกรูปแบบ เพื่อยุติเหตุความรุนแรงในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
สาเหตุเป็นเพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคง “มีขีดความสามารถ” และยังดำรงความเป็น “ฝ่ายริเริ่ม” ในการปฏิบัติการก่อเหตุในทุกโอกาส และบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องกลับมาเป็นฝ่ายรับ และสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์
ดังนั้นคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้เริ่มต้นติดต่อพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ให้เข้ามาร่วมบนโต๊ะพูดคุยโดยให้เหตุผลว่า ความรุนแรงจะไม่เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายใด นอกจากนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทุกครั้งทำให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเพิ่มกำลังพลและยุทโธปกรณ์ รวมทั้งความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมมากขึ้น ซึ่งจะไม่เกิดผลดีต่อฝ่ายใด และชี้ให้เห็นว่าการพูดคุยคือทางออกที่ดีที่สุดของทุกฝ่าย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ที่พยายามรวมตัวกันทั้ง 6 กลุ่ม เข้ามาร่วมพูดคุยแบบเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการจนถึงปัจจุบันรวม 3 ครั้ง
หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ขอเรียนว่ารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยฝ่ายเดียวมาตลอด จนถึงบัดนี้ได้มีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้เข้ามา “ร่วมมือ” กับรัฐในการช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยมีภาคประชาชนจับตามองและให้การสนับสนุน รวมทั้งเป็นสักขีพยานในความร่วมมือดังกล่าว
จึงนับว่าเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นความสำเร็จที่สำคัญ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังมีคนคิดแบบเก่า ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย ยังคิดว่า เป็นการยกระดับองค์กรเพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายในปัจจุบัน เพราะมีภาคประชาชนคอยสังเกตตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา และในอนาคตเชื่อว่า จะไม่มีเฉพาะ Party A และ B ที่คุยกันเท่านั้น แต่จะมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมพูดคุย และเป็นผู้กำหนด Road Map ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป เพียงแต่ในขั้นตอนแรกคณะพูดคุยฯ จำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ให้เกิดขึ้นก่อน และความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงมาโดยลำดับ
สำหรับการพูดคุยเพื่อสันติสุข ที่คณะพูดคุยฯ ดำเนินการอยู่นั้น เป็นการพูดคุยเพื่อ “ลดความตั้งใจ” (Intention) ในการใช้ความรุนแรงของผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่มแล้วหันมาใช้ขีดความสามารถที่มีอยู่ในทาง “สันติวิธี” มากกว่าการใช้ขีดความสามารถสร้างความรุนแรงในการก่อเหตุเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะแตกต่างจากเดิมที่เข้าใจว่าต้องเจรจาต่อรองตกลงกันก่อนว่า ฝ่ายหนึ่งจะได้อะไร อีกฝ่ายจะได้อะไร และต้องการอะไร เพราะวิธีคิดแบบโบราณนั้นจะนำมาซึ่งความได้เปรียบกันในเวทีพูดคุย โดยเป็นการชิงไหวชิงพริบกันและสร้างความหวาดระแวงมากกว่าความไว้วางใจ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่คณะพูดคุยฯ กำลังดำเนินการอยู่คือ สร้างความไว้วางใจเพื่อแสวงหา “ความร่วมมือ” ในการแก้ปัญหาความรุนแรงร่วมกันโดยพยายามชี้ให้เห็นว่า หากใช้ความรุนแรงต่อไปก็จะไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะเด็ดขาดแม้เวลาจะผ่านไปอีกหลายสิบปี แต่สิ่งที่เสียหายคือ บ้านเมือง ประเทศชาติ และความสูญเสียของพี่น้องประชาชน
รวมทั้งอนาคตที่มืดมนของบุตรหลาน และไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์อะไรเลย ดังนั้นการพูดคุยเพื่อให้เกิดความร่วมมือต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญว่า เราจะเริ่มต้นร่วมมือกันอย่างไร? ในเรื่องอะไร ทั้งเรื่องความปลอดภัย การพัฒนา และความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน
กล่าวโดยสรุปในปัจจุบันคณะพูดคุยฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานในแต่ละเรื่องแล้วเพื่อจัดทำร่างชุดความคิด (Package) กระบวนการยุติธรรม แบ่งกลุ่มประเภทแยกความผิดแต่ละกรณี และกำหนดแนวทางดำเนินการผ่อนผันตามกรอบของกฎหมายไทย เพื่อให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯ ได้เลือกให้ตรงความต้องการของแต่ละกลุ่ม หรือเป็นบุคคล
สำหรับเรื่องการพัฒนา และเรื่องพื้นที่ปลอดภัยก็เช่นเดียวกัน ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดเป็นชุดความคิดของการพัฒนาในเรื่องสำคัญเร่งด่วนแต่ละเรื่องให้ตรงใจกับพี่น้องประชาชน และพื้นที่ปลอดภัยทั้งในชุมชนเขตเมือง ชนบทป่าเขา เส้นทางสัญจร และพื้นที่ชายแดนว่า จะเริ่มพื้นที่ใดก่อนไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถ และความพร้อมของฝ่ายรัฐ รวมทั้งความร่วมมือของกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ที่ต้องร่วมกันกำหนด และเลือกวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ถ้าหากทุกท่านมองด้วยใจเป็นธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า ประเด็นของ “มารา ปาตานี” นั้น ที่จริงแล้วก็คือเรื่องเดียวกันกับประเด็นของคณะพูดคุยฯ โดยสามารถปรับเข้าหากันได้ทุกเรื่อง เช่น การยอมรับใน “มารา” สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยการพิสูจน์ให้เห็นในเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่ร่วมกัน รวมทั้งการร้องขอให้ “การพูดคุย” เป็นวาระแห่งชาติ ก็สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการพัฒนาที่สังคมทั้งประเทศยอมรับ ตลอดจนการขอสิทธิคุ้มครองทางกฎหมาย (Immunity) ก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงได้นั่นเอง ทั้งหมดนี้สามารถแสวงหาความร่วมมือตกลงกันได้บนโต๊ะพูดคุย และแม้ว่าอาจต้องใช้เวลาบ้าง แต่ก็จะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ จชต.
โดยความก้าวหน้าล่าสุด คณะพูดคุยฯ สามารถสร้างความเห็นชอบร่วมกันกับผู้อำนวยความสะดวก และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ (Party B) ในการจัดตั้งคณะทำงานด้านเทคนิคร่วม ซึ่งประกอบด้วยทุกฝ่าย ทั้ง Party A, Party B และผู้อำนวยความสะดวก รวมทั้งในอนาคตอาจมีภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย เพื่อกำหนดรายละเอียดในการทำงานร่วมกันให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: