PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

ปานเทพ:ปฏิทินทางการเมืองที่สำคัญต้องจับตา

1 มกราคม 2557 วันสุดท้ายปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต ปรากฏว่าจะมี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ หมายความว่าจะมีจำนวน ส.ส.ไม่ครบ 95% (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 7)เท่ากับไม่มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ เปิดประชุมสภาไม่ได้ จึงเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ไม่ได้ เมื่อ กกต.ประกาศไม่เลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง และให้ทุกฝ่ายเจรจากันก่อน หมายความว่าถ้าประชาชนใน 28 เขตเลือกตั้งยังยืนยันในเจตนารมณ์เดิมที่จะให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งได้สำเร็จ ก็จะไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าอำนาจจากสภาชุดใหม่และรัฐบาลชุดใหม่ตีอไป(ตราบใดทีีประชาชนยังยืนหยัดได้)

กปปส. จึงเหลือภารกิจอีกสองด้าน คือกำจัดรัฐบาลรักษาการชุดนี้ และสถาปนาอำนาจใหม่ที่ไม่ใช่ระบอบทักษิณ

7 มกราคม 2557 ปปช.จะลงมติแจ้งข้อหา 381 สส. สว. รัฐมนตรีคดี แก้ รัฐธรรมนูญ ที่มาของวุฒิสภา ในประเด็นนี้ ถ้าปปช.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหา 381 ส.ส. และ ส.ว.รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 4 บัญญัติเอาไว้ว่า:

"ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันดังกล่าวผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๒๗๓ และอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป"

ความจริงเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาไปแล้ว การแจ้งข้อกล่าวหาในส่วนของ ส.ส.ไม่ค่อยมีผลเท่าใดนัก (เพราะ ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปตามการยุบสภาแล้ว) แต่การชี้มูลในส่วนของ ส.ว.ที่ร่วมกันกระทำความผิดในระบอบทักษิณจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติตรงนี้มีความหมายมากกว่า

คราวนี้เนื่องจากผู้ที่ถูกถอดต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไป เสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา"เท่าที่มีอยู่"จึงย่อมไม่ใช่ฝ่ายระบอบทักษิณอีกต่อไป และอาจถอดถอน ส.ส.และส.ว. สำเร็จเป็นครั้งแรกก็ได้ แต่ถ้า ปปช.ไม่ชี้มูลประเด็นนี้การถอดถอนไม่ว่าจะเป็นใครในระบอบทักษิณก็ตามไม่มีทางสำเร็จได้

แต่ก็นั่นแหละถึงแม้จะรีบลงมติถอดถอนไปได้สำเร็จ กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่อยู่ดี ดังนั้นหาก ปปช.ลงมติแจ้งข้อกล่าวหา การที่ ส.ว.เท่าที่มีอยู่คาเรื่องนี้ไว้ให้ ส.ว.ฝ่ายระบอบทักษิณหยุดปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจเกิดประโยชน์กว่าสำหรับการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน

เว้นเสียแต่ว่า กกต.ทั้ง 5 คนตัดสินใจลาออกหลังจากวันที่ ปปช.แจ้งข้อกล่าวหา 381 คน ก็จะทำให้จัดการเลือกตั้งซ่อมไม่ได้ และรับรองผลการเลือกตั้งก็ไม่ได้ และถ้าจะคัดสรรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 กกต.ชุดใหม่ในระหว่างนั้นก็น่าเชื่อได้ว่าจะไม่ใช่ ส.ว.ฝ่ายระบอบทักษิณอีกต่อไป เพราะตัวแทนฝ่ายการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่มี และ ส.ว.เท่าที่เหลืออยู่และไม่ใช่คนในระบอบทักษิณจะลงมติในท้ายที่สุด

8 มกราคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้น่าเชื่อได้ว่ามีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับมหาอำนาจที่พยายามจะมีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาคนี้ ประเทศเหล่านี้พยายามหนุนหลังรัฐบาลย่ิงลักษณ์เพราะเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 สามารถทำให้สัญญาระหว่างประเทศลัดขั้นตอน ปิดหูปิดตาประชาชน เอื้อประโยชน์แก่ชาติอื่นได้ง่าย (เหมือนเซ็นเช็คเปล่า) ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการกระทำความผิด จะเกิดประโยชน์ 3 ประการ

1. เป็นไปตามข้อความที่ว่า "ให้นึกถึงส่วนรวม และความเป็นไทยไว้เสมอ"
2. ทำให้ต่างชาติหมดแรงจูงใจในข้อตกลงกับฝ่ายระบอบทักษิณที่ผ่านมา
3. สามารถดำเนินคดีอาญาอีก 1 คดีกับเหล่า ส.ส.และ ส.ว.

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ามาสู่อำนาจต่อไปหากไม่ใช่ถูกชักจูงด้วยผลประโยชน์ได้ง่าย ก็จะถูกบีบให้ทำสัญญาโดยหมดข้ออ้างว่าต้องทำตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เสียก่อน

10 มกราคม 2557 ประธานสภาผู้แทน,ประธานวุฒิสภา เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ ปปช. เป็นผลต่อเนื่องจากวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ที่ ปปช.ได้ลงมติแจ้งข้อกล่าวหาเอาไว้ แต่ตรงนี้หากวันที่ 7 มกราคม 2557 ปปช.ไม่ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ส.ส.และ ส.ว. 381 คน ต่อให้ในวันหนึ่งประธานวุฒิสภาคนนี้พ้นจากตำแหน่งไป ส.ว.เสียงข้างมากเหล่านี้ก็จะเลือก ประธานส.ว.ฝ่ายระบอบทักษิณกลับมาอยู่ดี

ตำแหน่งประธานวุฒิสภาในเวลานี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยามที่อาจเกิดสุญญากาศอันเกิดจากการยุบสภา+เลือกตั้งไม่สำเร็จ+คณะรัฐมนตรีรักษาการพ้นจากตำแหน่ง รองประธานวุฒิสภาผู้ที่ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้ขอใช้มาตรา 7 เพื่อทำให้เกิด"นายกรัฐมนตรีเพื่อปฏิรูปประเทศไทย"ในยามที่ไม่สามารถใช้บทบัญญัติใดๆตามรัฐธรรมนูญได้เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมืองรอบด้าน

เมื่อถึงวันที่ 10 มกราคม 2557 ถ้าทุกอย่างดำเนินตามไปตามข้างต้น ก็จะเหลือขั้นตอนต่อไปที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน คือจะให้คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกทั้งคณะได้สำเร็จหรือไม่? เพราะต้องไม่ลืมว่าถึงแม้ ปปช.จะชี้มูลเรื่องต่างๆข้างต้น การหยุดปฏิบัติหน้าที่ซึ่งถูกกล่าวหานั้นยังอาจถูกตีความจำกัดเฉพาะหน้าที่ของ ส.ส.ไม่ใช่หน้าที่ของรักษาการนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

ถ้าวันที่ 13 มกราคม 2557 เป็นต้นไป กปปส.สามารถชุมนุมปิดกรุงเทพหลายวันแล้วทำให้คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีหน้าด้านและหน้าทน คนกรุงเทพก็อาจเดือดร้อนจนกระแสตีกลับได้ ก็อาจต้องคิดเรื่องการใช้มวลชนออกปฏิบัติการกับนักการเมืองในระบอบทักษิณโดยตรงอาจได้ผลมากกว่า (ยังมีเวลาคิด) และช่วยกันเร่งให้ ปปช.ชี้มูลคดีกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เช่น การทุจริตโครงการจำนำข้าว, โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ฯลฯ

แต่ถ้าคิดถึงขั้นจะปฏิวัติประชาชนสถาปนาอำนาจรัฐาธิปัตย์ได้ ผมยังเห็นว่า "เนื้อหาการปฏิรูปการเมือง"คือการครองใจประชาชนที่แท้จริง (ปฏิรูปการปราบทุจริต, ปฏิรูปตำรวจ, ปฏิรูปพลังงาน) มีความสำคัญมากเสียยิ่งกว่า"รูปแบบ"ของการเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อการปฏิรูปเสียอีก เพราะถ้ามุ่งเน้น"รูปแบบ"มากรัฐบาลก็ประชันแข่งด้วย "รูปแบบ"อย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้เช่นกัน

เมื่อครองใจประชาชนส่วนใหญ่ได้แล้วจึงจะลดความเสียหายในการเข้าสู่อำนาจรัฐใหม่ได้ ลดความเสียหายที่อาจเกิดจากสงครามระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย เพราะศึกครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วคือสงครามช่วงชิง"ความชอบธรรม"เพื่อครองใจประชาชน

ขอให้มวลมหาประชาชนทุกคน ทุกจังหวัด กปปส. กปท. คปท. พี่น้องพันธมิตรฯ ประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง โชคดี และปลอดภัย

ไม่มีความคิดเห็น: