PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บท บก. สื่อต่างประเทศ วิเคราะห์ทิศทางหลังการเลือกตั้งไทย


บท บก. สื่อต่างประเทศ วิเคราะห์ทิศทางหลังการเลือกตั้งไทย

บทบรรณาธิการนิวยอร์กไทมส์ ชี้การเลือกตั้งถูกทำให้เป็นโมฆะ ประเทศไทยจะแตกแยกหนัก ขณะที่วอลล์สตรีทเจอร์นัลเผย "การรัฐประหารโดยศาล" จะทำให้ประชาชนหมดศรัทธาในองค์กรอิสระต่างๆ เพราะเห็นว่าเป็นแค่เครื่องมือเผด็จการ

บรรยากาศการชุมนุมกลุ่ม กปปส.
แฟ้มภาพ: ประชาไท
4 ก.พ. 2557 สื่อต่างประเทศ เช่น นิวยอร์กไทมส์และวอลล์สตรีทเจอร์นัล เขียนบทบรรณาธิการกล่าวถึงกรณีการเลือกตั้งในประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา
บท บก.ของวอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุว่า แม้จะมีการข่มขู่และความพยายามก่อกวนการเลือกตั้งโดยกลุ่มผู้ประท้วง รวมถึงมีการปะทะกันด้วยอาวุธในวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่การเลือกตั้งก็เป็นไปอย่างสงบในวันอาทิตย์ ขั้นตอนการลงคะแนนเป็นไปอย่างราบรื่นในร้อยละ 90 ของหน่วยเลือกตั้ง และมีผู้มีสิทธิเกือบครึ่งหนึ่งไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง
"นีถือเป็นเรื่องที่น่าประทับใจเมื่อพิจารณาแล้วว่าผู้ไปใช้สิทธิเสี่ยงจะต้องเจอกับคนจู่โจมพวกเขาขณะเข้าคูหา" บท บก.ของวอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงว่าคนที่ต่อต้านรัฐบาลบางคนก็ไม่สนใจโวหารต่อต้านประชาธิปไตยโดยได้เข้าคูหาและทำบัตรเสียเพื่อแสดงจุดยืนของตน
บท บก. วอลล์สตรีทเจอร์นัลกล่าวอีกว่า ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ผู้รู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะแพ้การเลือกตั้งจึงพยายามใช้วิธีการต่างๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย วิธีการแรกคือการใช้กฎหมู่ (mob rule) ซึ่งไม่สำเร็จ มีคนเข้าร่วมการชุมนุมลดลง ทำให้พวกเขาหันมาพยายามใช้วิธีการทางกฎหมาย
โดยวอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีการเข้ามาก้าวก่ายทางการเมืองมานานแล้ว เช่นกรณีสั่งให้การเลือกตั้งปี 2549 เป็นโมฆะโดยอ้างว่ามีการตั้งบูธลงคะแนนผิดตำแหน่ง และในปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำการล้มล้างรัฐบาลฝ่ายสนับสนุนทักษิณสองรัฐบาลและตัดสิทธิทางการเมืองของ ส.ส.เป็นเวลา 5 ปี ทำให้เกิดคำว่า "การรัฐประหารโดยศาล" เกิดขึ้น
วอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังได้ให้อำนาจต่อศาลมากขึ้น รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งในตอนนี้เป็นผู้นำต่อต้านฝ่ายสนับสนุนทักษิณ อำนาจของพวกเขาแทบจะเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่วอลล์สตรีทเจอร์นัลก็เตือนว่าการใช้อำนาจในการถอดถอนยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็อาจทำให้องค์กรเหล่านี้ถึงจุดตกต่ำเสียเอง
"การรัฐประหารโดยศาลในปี 2557 จะทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาในสายตาประชาชนตกต่ำ เนื่องจากประชาชนจะเห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหาร แต่กลายเป็นเครื่องมือของเผด็จการแทน" วอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุในบท บก.
วอลล์สตรีทเจอร์นัลยังได้พูดกับกลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ว่า การที่พวกเขาสนับสนุนการชุมนุมที่ต่อต้านประชาธิปไตยและการรัฐประหารโดยศาลทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างมากทั้งในแง่ของการท่องเที่ยวและการชะลอการลงทุน
"พวกเราเชื่อว่าต้นตอของปัญหาในไทยมาจากการพยายามขึ้นสู่อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการปลุกปั้นการชุมนุมบนท้องถนนและโดยทางกฎหมายแทนวิธีการเลือกตั้ง วิธีเดียวที่จะทำให้สังคมไทยกลับมาสู่ภาวะปกติได้คือการที่ทั้งสองฝ่ายยอมตกลงแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านทางกระบวนการประชาธิปไตย การรัฐประหารโดยศาลจะเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น" วอลล์สตรีทเจอร์นัลกล่าวในบทความ
บท บก.วอลล์สตรีทเจอร์นัลวิจารณ์อีกว่า การบอยคอตต์การเลือกตั้งของพรรค ปชป.จะมีความชอบธรรมก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งในครั้งนั้นไม่เป็นไปอย่างอิสระหรือไม่เป็นไปอย่างยุติธรรม แต่ในกรณีของไทยไม่เป็นเช่นที่ฝ่ายค้านกล่าวหา
"เมื่อพรรคการเมืองในประชาธิปไตยยุคใหม่ทำตัวเหมือนเด็กถูกตามใจจนเคยตัวและบอยคอตต์การเลือกตั้ง ก็ควรลงโทษพวกเขาด้วยการให้ไปดูอยู่ข้างสนามจนกว่าพวกเขาจะยอมโต" วอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุไว้ในบท บก.
 

บรรยากาศการนับคะแนนเมื่อวันที่ 2 ก.พ.
แฟ้มภาพ: ประชาไท

นิวยอร์กไทมส์เผยฝ่ายต้านรัฐบาลควรมีแผนปฏิรูปชัดเจนและให้ประชาชนสนับสนุน-คัดค้านได้
ทางด้านนิวยอร์กไทมส์ก็เขียนบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศไทยเป็นต้นแบบของประเทศที่มีเสถียรภาพค่อนข้างดีและมีการพัฒนาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มักจะมีความเผด็จการและมีรัฐบาลที่โหดเหี้ยม ในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ประเทศไทยควรมีส่วนช่วยในการลดความตึงเครียดในภูมิภาคและทำให้เกิดสมดุลอำนาจระหว่างประเทศจีนซึ่งกำลังกล้าแข็งขึ้นทางการทหาร โดยไทยควรใช้วิธีการเป็นเจ้าแห่งการค้าและเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียน
นิวยอร์กไทมส์ยังได้กล่าวถึงเหตุวุ่นวายก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงการที่ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งก่อกวนการเลือกตั้งในบางจุด และบอกอีกว่าถ้าหากการเลือกตั้งถูกทำให้เป็นโมฆะและมีการแทนที่รัฐสภาด้วยกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศอยู่ในสภาพแตกแยกอย่างมาก และหากยืดเยื้อออกไปจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของชาติ
"ถ้าหากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสนใจแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและต้องการส่งเสริมประชาธิปไตยจริง พวกเขาควรหยุดการประท้วงและเสนอการปฏิรูปที่มีรายละเอียด มีความชัดเจน รวมถึงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถยอมรับหรือปฏิเสธได้" นิวยอร์กไทมส์กล่าวในบท บก.




เรียบเรียงจาก
Thailand Votes for Democracy, Wall Street Journal, 03-02-2014
http://online.wsj.com/article/SB10001424052702303442704579360272255058790.html
Democracy in Thailand, Interrupted, New York Times, 03-02-2014
http://www.nytimes.com/2014/02/04/opinion/democracy-in-thailand-interrupted.html
ที่มา เวปประชาไทย http://prachatai.com/journal/2014/02/51618

ไม่มีความคิดเห็น: