PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

'ฉากทัศน์' การเมืองหลัง 2 ก.พ.

การเมือง
วันที่ 30 มกราคม 2557 09:00

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ฉากทัศน์"การเมืองหลัง 2 ก.พ. รัฐบาลรักษาการกับแต้มต่อของ"เพื่อไทย"

การเดินหน้าสู่คูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่การเดินเกมการเมืองแบบ "ไปตายเอาดาบหน้า" เหมือนที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการพลิกเกมที่วิเคราะห์ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงมาแล้วว่า พวกเขาสามารถกุมความได้เปรียบทั้งหมดเอาไว้ได้

ไม่ใช่แค่กอดความชอบธรรมในแง่ของกติกาการเลือกตั้งเอาไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการโยนแรงกดดันกลับไปยังฝ่ายผู้ต่อต้านให้จำต้องย้อนกลับมาเดินตามเกมที่รัฐบาลกำหนดด้วย

"ฉากทัศน์" (scenario) ของรัฐบาลเป็นอย่างไร ต้องอ่านจากแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งนั้นมีความสำคัญมากมายขนาดไหน และทำไม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงต้องขัดขวางทุกวิถีทางไม่ให้การเลือกตั้งดำเนินไปจนสำเร็จ

เพราะมันอาจเป็นปัจจัยชี้ผลแพ้ชนะ...อย่างน้อยๆ ก็ยกหนึ่งของศึกครั้งนี้กันเลยทีเดียว!

เริ่มจากในแง่ "ความชอบธรรม" นับถึงวันนี้การเคลื่อนไหวของ กปปส. ถูกลดทอนความชอบธรรมลงไปมาก โดยเฉพาะหลังจากไปแสดงบทบาท "ล้ำเส้น" ด้วยการ "ขัดขวางการเลือกตั้ง" จนไปล่วงละเมิดสิทธิของผู้ที่ต้องการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญ

ฉะนั้น หากการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เกิดขึ้น ไม่ว่าผลคะแนนจะออกมาอย่างไร รัฐบาลจะยิ่งมีความชอบธรรมขึ้นในฐานะผู้รักษากติกาประชาธิปไตย และเคารพเสียงของประชาชน แม้เสียงที่ได้อาจจะน้อยลงกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า แต่เมื่อไม่มีคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยย่อมกลายเป็นผู้ชนะ

ในขณะที่เสียงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้น ไม่อาจวัดได้ เพราะจนถึงขณะนี้เสียงยังแตกกันอยู่เลยว่าจะไปลงคะแนน "โหวตโน" หรือกาช่องไม่ประสงค์เลือกใคร หรือไปฉีกบัตรแสดงอารยะขัดขืน หรือนอนหลับทับสิทธิกันไปเลย ทำให้ไม่เกิดกลุ่มก้อนที่ชัดเจนของฝ่ายไม่เอารัฐบาลเพื่อลดความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยลง

ยิ่งหากจะทำให้เกิดความวุ่นวายซ้ำรอยวันเลือกตั้ง 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็แน่นอนว่าสุ่มเสี่ยงจะถูกประณามจากนานาชาติมากขึ้นไปอีก

ส่วนในแง่ "ข้อเท็จจริง" และ "กฎหมาย" ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะมีหน่วยหรือเขตเลือกตั้งจำนวนหนึ่งไม่อาจลงคะแนนได้ หรือไม่อาจนับคะแนนได้ หรือแม้แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพราะไม่มีผู้สมัครในเขตนั้นเลย

แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรคหก เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า "ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายใน 180 วัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่"

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในข้อนี้ แปลความได้ว่า

1.หากเลือกตั้งออกมาแล้วได้จำนวน ส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 95 ในที่นี้คือ 475 คน ก็ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้

2.เปิดช่องให้ กกต.ดำเนินการให้มี ส.ส.ครบ 500 คน คือ 100% ภายใน 180 วันหรือ 6 เดือน

การดำเนินการตามข้อ 2 ก็คือ การจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตที่มีปัญหา ตรงตามที่ นายโภคิน พลกุล ในฐานะคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเครือเนชั่นเอาไว้ คือ กกต.ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ แก้ปัญหาไป ได้ ส.ส.เท่าไรก็เท่านั้น

ส่วนปัญหาหลังผ่านการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ที่มีการประเมินผ่านสายตา กกต.อย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คือ

1.ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะประกาศไม่ได้ หากไม่ได้คะแนนครบทุกหน่วย คือ 93,535 หน่วย เพราะถ้าแค่เพียง 1 หน่วย ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งหรือนับคะแนนได้ ก็จะติดขัดในการนำคะแนนไปคิดหาสัดส่วนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับเลือกตั้ง

2.ส.ส.แบบแบ่งเขต 375 เขต จะต้องนำคะแนนของการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมารวมด้วย แต่การเลือกตั้งล่วงหน้ามีหลายเขตที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องรอการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะกำหนดขึ้นใหม่ในช่วงปลายเดือนก.พ.

"เมื่อเลือกตั้งแล้วกว่าจะประกาศผลก็ประมาณปลายเดือนมี.ค. หากมีคนคัดค้าน และจัดการเลือกตั้งไม่สำเร็จอีก ก็ต้องกำหนดวันเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือนขึ้นไป ปัจจัยเหล่านี้จะชี้ว่าสภาจะเปิดไม่ได้ในระยะเวลายาวนานพอสมควร ส่วนจะเป็น 3-4 เดือนหรือมากกว่านั้นไม่สามารถระบุได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ กกต.ไม่ได้กำหนด แต่เป็นความขัดแย้งในสังคม ซึ่งรัฐบาลต้องแก้ไขด้วย"

นั่นเป็นมุมมองของนายสมชัย แต่ในทางการเมืองไม่ได้มองแบบนั้น เพราะถึงจะประกาศผลเลือกตั้งไม่ได้ หรือได้ ส.ส.ไม่ครบจำนวนจนเปิดประชุมสภาไม่ได้ ซึ่งเมื่อเปิดประชุมไม่ได้ ก็เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียอำนาจไป เพราะพวกเขายังคงเป็น "รัฐบาลรักษาการ" และจะรักษาการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มารับไม้ต่อ

สมมติว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อไปนานถึง 6 เดือน ยังได้ ส.ส.ไม่ครบ 100% จะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องถามกลับไปว่าสังคมไทยจะมีน้ำอดน้ำทนรอนานถึง 6 เดือน โดยไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศหรือไม่ แรงกดดันจะย้อนกลับไปที่ กปปส. หรือเปล่า เพราะทุกอย่างหยุดชะงักหมด กระทบภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล

ส่วนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น แม้จะมีคดีสำคัญอยู่ในมือ ทั้งจำนำข้าว และถอดถอนสมาชิกรัฐสภา 308 คน จากการร่วมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. แต่มติของ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้มีผลร้ายแรงถึงกับทำให้รัฐบาลต้องหมดอำนาจ

- จำนำข้าว หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี จนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ พรรคเพื่อไทยก็ยังมีรองนายกฯ อีกหลายคนพร้อมทำหน้าที่รักษาการแทน

- แก้รัฐธรรมนูญ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดสมาชิกรัฐสภา 308 คน ก็ยังมีปัญหาทางกฎหมายต่อไปว่ากระบวนการถอดถอนจะเดินหน้าได้หรือไม่ เพราะมี ส.ว.จำนวนหนึ่งถูกยื่นถอดถอนและต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย จำนวน ส.ว.ที่ต้องลงมติถึง 3 ใน 5 จึงจะถอดถอนสำเร็จนั้น คิดจากจำนวน ส.ว.เท่าใด ตรงนี้อาจนำไปสู่การตีความกันอีกรอบหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นรัฐบาลรักษาการ...

สุดท้ายอาจมีคนไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ สมมติว่าศาลชี้ว่าเป็นโมฆะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ทุกอย่างก็ย้อนไปเหมือนปี 2549 คือ รัฐบาลเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะหากไม่ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้ง เข้าข่ายถูกยุบพรรคตามกฎหมาย

นี่คือ ฉากทัศน์ หลังเลือกตั้งในเกมแห่งอำนาจ ที่พรรคเพื่อไทยยังเชื่อว่าตนเองได้เปรียบทุกประตู!

ไม่มีความคิดเห็น: