PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

นายกฯยูเครนประกาศ “ลาออก” หวังยุติม็อบขับไล่รัฐบาล

เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรี มีโคลา อซารอฟ แห่งยูเครน ก้าวลงจากตำแหน่งในวันนี้ (28 ม.ค.) โดยนับเป็นความพยายามแก้ไข วิกฤตร้ายแรง ตลอดจนรักษาความเป็นปึกแผ่นของยูเครน และในขณะเดียวกัน ก็เป็นท่าทียอมจำนนต่อแรงกดดัน หลังชาวยูเครนเรือนแสนออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนนานกว่า 2 เดือน อซารอฟ กล่าวว่า เขาได้ตัดสินใจลาออกด้วยตนเองเพื่อธำรงเอกภาพของประเทศ ในเวลาที่รัฐสภายูเครนเปิดสมัยประชุมพิเศษเพื่อลงมติในเรื่องการปฏิรูป และการประนีประนอม ที่ประธานาธิบดี วิกตอร์ ยานูโควิช เป็นผู้ผลักดัน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ได้เร่งกดดันให้ประธานาธิบดี ยานูโควิช

ดำเนินการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง เพื่อยุติการเผชิญหน้ากันที่ทำให้บางพื้นที่ของกรุงเคียฟกลายเป็นเขตสงคราม ที่มีกลุ่มผู้ประท้วงสวมหน้ากากเดินลาดตระเวน และมีนักเคลื่อนไหวเสียชีวิตไป 3 ราย ภายหลังการหารือกับบรรดาผู้นำฝ่ายค้านนาน 4 ชั่วโมง ทำเนียบประธานาธิบดีได้กล่าวว่า จะยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายห้ามชุมนุมประท้วงที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผ่านออกมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม

ตลอดจนจะมีการนิรโทษเหล่าผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประท้วงจะต้องเลิกยึดอาคารราชการและปิดถนน ทางด้าน แคทเธอรีน แอชตัน ประธานฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรปได้ร่นกำหนดการเดินทางเยือน ยูเครนให้ใกล้เข้ามา ขณะที่รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ยานูโควิชหันหน้าพูดคุยกับฝ่ายค้านในเรื่อง “มาตรการเร่งด่วน”

เพื่อลดความขัดแย้งในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่วิกฤตการณ์นี้จะครอบงำการประชุมซัมมิตระหว่างสหภาพยุโรปกับ รัสเซีย ที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน จะเดินทางไปเข้าร่วม ทั้งนี้ ปูตินย่อมจะไม่ต้องการให้การเผชิญหน้ากันส่งผลกระทบต่อการแข่งขันกีฬาโอลิ มปิกส์ฤดูหนาว ที่เมืองโซชิของรัสเซีย ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ในการประกาศการเปลี่ยนแปลงที่น่าตกตะลึงวันนี้ (28)

อซารอฟได้ยอมจำนนต่อแรงกดดันที่เกิดขึ้นมานานหลายเดือน ทั้งนี้ฝ่ายค้านยื่นคำขาดให้เขาลาออก ในการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสอิสรภาพใจกลางกรุงเคียฟ อซารอฟกล่าวว่า เขาคาดหวังว่าการที่เขาลาออกจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมทางการเมืองกัน ได้มากขึ้น จนสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้โดยสันติ “รัฐบาลได้ทำทุกอย่างในช่วงที่มีการเผชิญหน้ากัน เพื่อให้แก้ไขความขัดแย้งได้โดยสันติ” เขากล่าว พร้อมทั้งเสริมว่าคณะรัฐมนตรีของเขาถูกบีบให้ทำงานภายใต้สถานการณ์กดดัน ทั้งนี้ การชุมนุมของชาวยูเครนเรือนแสนในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมาได้ปะทุขึ้นจากความไม่พอใจที่ ยานูโควิช ล้มเลิกแผนเจรจาความร่วมมือด้านการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป จนในที่สุดก็ยกระดับจนเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ซึ่งแกนนำผู้ประท้วงอ้างว่า รัฐบาลนี้แสดงพฤติกรรมทุจริต เล่นพรรคเล่นพวกตลอด 4 ปีที่ปกครองประเทศ


ไม่มีความคิดเห็น: