PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

วัดอุณหภูมิประท้วงล่าสุด ยูเครน, เขมร เทียบกับไทย

การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
วันที่ 30 มกราคม 2557 01:00
กาแฟดำ

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เกาะติดวิกฤติทางการเมืองบ้านเราเองยังไม่พอ ต้องเหลียวหลังแลหน้า การประท้วงยืดเยื้อเคียงคู่กับของไทย คือ ที่ ยูเครน และ กัมพูชา พร้อมกันไปด้วย

เพราะว่ามีทั้งบทเรียน ประสบการณ์ และความคิดคำนึงที่ควรจะแลกเปลี่ยนกันในหมู่ประชาชน เพื่อแสวงหา “ทางออก” ให้บ้านเมือง ในยามที่ผู้คนออกมาต่อต้านรัฐบาลกันอย่างกว้างขวางเกือบทุกมุมโลก

ข่าวล่าสุดจากยูเครนและกัมพูชา ไม่ต่างจากไทย ตรงที่เกิดความรุนแรงเมื่อเจ้าหน้าที่บุกเข้าปะทะกับผู้ประท้วง ความรุนแรงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากผู้กุมอำนาจไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว เพราะว่ากลัวจะสูญเสียอำนาจ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านมองไม่เห็นทางออกของบ้านเมือง หากไม่มีการปฏิรูปบ้านเมือง

ประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช เจรจากับผู้นำฝ่ายค้านแล้วยอมถอยก้าวเล็กๆ หนึ่งก้าว นั่นคือ ยอมยกเลิกกฎหมายที่ห้ามกิจการเดินขบวนหลายอย่าง รวมถึงจับคนที่เข้ายึดที่ทำการราชการเข้าคุก และห้ามคนเดินขบวนใส่หน้ากากและสวมหมวกกันน็อค

อีกทั้งยังเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับฝ่ายค้าน เพื่อแลกกับการเลิกการประท้วง แต่ฝ่ายค้านบอกปัดทันที เพราะหากยอมรับข้อเสนอเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการหักหลังประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทำข้อตกลงร่วมมือกับสหภาพยุโรป แทนที่จะกลายเป็นสหายของรัสเซีย ที่หลายคนมองว่าต้องการจะครอบงำยูเครนมากเกินไป

ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว รัฐมนตรียุติธรรมของรัฐบาล ขู่ว่า ถ้าการเดินขบวนที่ยืดเยื้อมากว่าสองเดือน (เริ่มต้นใกล้ๆ กับการประท้วงของ “มวลมหาประชาชน” ที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน) จะมีการประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน”

เรียกว่าเดินตามแบบของประเทศไทยกันเลยทีเดียว

ยิ่ง นายกรัฐมนตรีมีโคลา อะซารอฟ ลาออกจากตำแหน่งไม่กี่ชั่วโมงก่อน ที่รัฐสภาจะเตรียมลงมติถอดถอนเขา ก็กลายเป็นการเมืองอลหม่านเพิ่มขึ้น

สรุปว่าสถานการณ์การเมืองที่ยูเครน ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลงได้ ตรงกันข้ามการประท้วงได้กระจายตัวไปทางจังหวัดด้านตะวันตกอย่างกว้างขวางขึ้น เพราะเป็นบริเวณที่ชาวยูเครนมีความสนิทชิดเชื้อกับสหภาพยุโรป ขณะที่จังหวัดทางตะวันออกจำนวนไม่น้อยยืนอยู่ข้างรัฐบาล เพราะอยู่ใกล้กับรัสเซียมากกว่า

ที่ กัมพูชา ผู้ประท้วงถูกสารวัตรทหารบุกเข้าสลายหน้ากระทรวงข่าวสาร เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้มีคนบาดเจ็บอย่างน้อย 10 คน

ตำรวจใช้ทั้งระเบิดควันและกระบองไฟฟ้ากับฝูงชน

ผู้ประท้วงกลุ่มนี้ ไม่ได้มาจากกลุ่มประท้วงใหญ่ ที่ผู้นำฝ่ายค้าน สม รังสี เป็นแกนนำ หากแต่นำโดยผู้จัดรายการวิทยุอิสระ ที่นำคนประมาณ 1,000 คน ไปประท้วงรัฐบาลที่ไม่ยอมเปิดกว้างให้รายการวิทยุรับใช้ประชาชนคนทั่วไป

แต่จริงๆ แล้ว นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายฝ่าย ได้เข้าร่วมการประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ นายกฯ ฮุนเซน จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะว่าการหย่อนบัตรเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม มีการโกงกันอย่างมโหฬาร

ฮุนเซน สั่งตำรวจเข้าสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 2-4 มกราคม ที่ผ่านมา ห้ามผู้ประท้วงเข้าไปในสวนสาธารณะ ที่ชื่อ “สวนเสรีภาพ” กลางเมืองพนมเปญ เกิดการปะทะกันจนเกิดความวุ่นวาย

แม้ว่าการเดินขบวนที่กัมพูชาจะซาลง แต่บรรยากาศความตึงเครียดยังคุกรุ่น และตราบใดที่ผู้กุมอำนาจยังไม่ยอมฟังเสียงของผู้ไม่พอใจในแวดวงต่างๆ ความรุนแรงก็ยังเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

วัดดีกรีของความดุเดือดเลือดพล่านกันแล้ว สถานการณ์ในไทยของเราอ่อนไหวที่สุด และมีโอกาสจะระเบิดเป็นสงครามกลางเมืองมากกว่ายูเครนและกัมพูชา

สวดมนต์ให้ประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น: