PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สงสัย "บิ๊กตู่" รัฐประหารลืมดูดวง เจอความ "ซวย" ด้าน ศก. กว่ายุค "ยิ่งลักษณ์"

บทความพิเศษ นงนุช สิงหเดชะ มติชนสุดสัปดาห์ 7-13 ส.ค. 2558

เห็นสภาพการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่สาหัสมากๆ แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า ตอนรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมปีที่แล้วนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะลืมดูดวงจริงๆ ซึ่งคงเป็นเพราะต้องตัดสินใจแบบฉับพลัน ตามประโยคอันลือลั่นว่า "ถ้าอย่างนั้นนาทีนี้ผมขอยึดอำนาจ"

ถ้าดูดวงมารับรองว่าอาจจะไม่ซวยหรือโชคร้ายเรื่องเศรษฐกิจมากเท่านี้ก็เป็นได้

ยุคยิ่งลักษณ์เจอน้ำท่วมหนักสุดรอบ 50 ปี (บางเจ้าก็ว่า 70 ปี) พอมายุคบิ๊กตู่บ้าง เจอสภาพตรงข้ามสุดขั้วคือเกิดภัยแล้งสุดรอบ 50 ปี ถึงขนาดต้องลุ้นรายวันว่าจะมีน้ำพอกินพอใช้ไหม ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องน้ำสำหรับการเกษตร

ภัยแล้งในไทยนั้นสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติเพราะโลกเกิดเอลนีโญ

อีกส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการบริหารจัดการน้ำยุคคุณยิ่งลักษณ์ที่ผวาน้ำท่วมจนกระทั่งมีการสั่งระบายน้ำออกจากเขื่อนมากกว่าระดับมาตรฐานที่เคยปฏิบัติมา คือไปลดระดับต่ำสุดของน้ำในเขื่อนให้ต่ำลงไปอีก มีการระบายน้ำออกมามากเกินไป โดยลืมคำนึงว่าในปีต่อๆ ไปจะมีฝนน้อย เพราะโลกจะเริ่มเข้าสู่รอบของเอลนีโญ

ปกติเอลนีโญจะมีการเตือนล่วงหน้าไว้หลายปีพอสมควร หากรัฐบาลชุดยิ่งลักษณ์ใส่ใจข้อมูลตรงนี้และนำไปคำนวณร่วมกับการปล่อยน้ำในเขื่อน ก็อาจจะไม่สร้างปัญหาหนักจนกลายมาเป็นภาระในปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์พร่องน้ำจากเขื่อนหลักมากเกินไป และยังระบายในจังหวะที่ฝนตกน้อยแถมตกท้ายเขื่อน ทำให้ไม่มีน้ำเข้าเขื่อนเพียงพอ ซึ่งก็เป็นอย่างที่อธิบดีกรมชลประทานพูดนั่นล่ะว่าการเมืองเข้าแทรกทำให้มีการพร่องน้ำในเขื่อนมากเกินไปจนแล้ง

คำว่าการเมืองเข้าแทรกนั้น ก็มีนัยอยู่ไม่น้อย แม้ไม่ได้มีการขยายรายละเอียด แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่า เนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ซึ่งกระตุ้นให้ชาวนาปลูกข้าวกันทั้งปี

และแน่นอนต้องมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนออกมามากกว่าปกติเพื่อให้ชาวนามีน้ำปลูกข้าว



หลายคนอาจสงสัยว่าน้ำแล้งในปีนี้เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หาเรื่องกันเกินไปไหม

คำตอบคือเขื่อนขนาดใหญ่นั้น ต้องใช้เวลาสะสมน้ำนานประมาณ 4-5 ปี แต่เมื่อรัฐบาลชุดก่อนหน้าไปพร่องน้ำต้นทุนที่สะสมออกไปมาก แถมปีนี้ฝนตกน้อยด้วยจึงทำให้เกิดวิกฤตที่สุด ถึงขนาดมีการพูดกันว่าคนกรุงเทพฯ เหลือน้ำประปาใช้ไม่เกิน 30 วัน

ถ้าจะเอาคำพูดของข้าราชการหรือนักการเมืองมาอ้าง อาจคิดว่ามีอคติต่อคุณยิ่งลักษณ์ ก็เลยขอยกคำให้สัมภาษณ์ของคนรู้เรื่องจริง อยู่กับน้ำมาตลอดอย่าง นายบัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรกร จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม มาให้อ่าน

นายบัญชาบอกว่า วิกฤตแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2554 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2555 มีการสั่งระบายน้ำแบบไม่เกิดประโยชน์ต่อการอุปโภคบริโภค "เหมือนกับการคว่ำโอ่ง" เพียงเพราะคิดว่าหากไม่ระบายน้ำออกจากเขื่อนจะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซ้ำรอยปี 2554 เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดจนเกิดวิกฤตแล้ง

หากปล่อยไปตามปกติ ทุกเขื่อนจะรู้และเข้าใจสถานการณ์ต้นทุนน้ำอยู่แล้วก็จะไม่เกิดปัญหา



ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคระดับรากหญ้าซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อพืชผลของเกษตรกรเสียหาย ก็ไม่มีรายได้ไปจับจ่าย ซ้ำเติมการบริโภคที่อ่อนแออยู่แล้วให้ทรุดลงไปอีก ประเมินว่าภัยแล้งทำให้จีดีพีหายไป 0.5%

ส่วนการส่งออกที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของไทยก็ดูไม่จืดจริงๆ และช่างเป็นวงรอบที่สารพัดความซวย-โชคร้ายมาบรรจบกันอย่างเหมาะเจาะในปีนี้ เพราะจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ก็กลับกลายเป็นว่ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี โดยปีนี้คาดว่าจะโตเพียง 6.9-7% เท่านั้น สร้างความเสียขวัญให้กับทั่วโลก

รัฐบาลยิ่งลักษณ์โชคดีกว่าในแง่ของปัจจัยภายนอก เพราะทั้งปัญหาจีนและปัญหาหนี้กรีซระดับวิกฤตยังไม่ถึงจุดสูงสุด โดยปี 2556-2557 นั้นเศรษฐกิจจีนเติบโตประมาณ 8.4% ต่ำสุดรอบ 13 ปี แต่ตัวเลข 8% นั้นก็ยังนับว่าดีมากสำหรับจีนเพราะเป็นไปตามเป้าหมายและเป็นระดับที่มากพอจะดูดซับตลาดแรงงานของจีนได้ และยังสามารถเป็นพี่ใหญ่ในการซื้อสินค้าจากประเทศต่างๆ

ส่วนยุคบิ๊กตู่ เรียกได้ว่าเข้ามาบริหารในช่วงจังหวะที่สุดแห่งความซวย เพราะเป็นช่วงที่สุดแห่งการตกต่ำของตลาดโลก ทำให้การส่งออกของไทยปีนี้ติดลบติดต่อกันถึง 6 เดือน

โดยล่าสุดมิถุนายนติดลบไปอีก 7.8%



เศรษฐกิจไทยพึ่งพาส่งออกราว 77% ของจีดีพี แต่ก็ยังน้อยกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ที่พึ่งพาการส่งออกสูงถึง 81 และ 190% ของจีดีพีตามลำดับ ดังนั้น เมื่อเครื่องยนต์ส่งออกดับ ก็ยากมากที่จะดันเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันราคาน้ำมันตลาดโลกที่ดิ่งฮวบมากที่สุดในยุคบิ๊กตู่ ใช่ว่าจะเป็นข่าวดีเสมอไป เพราะราคาน้ำมันราคาถูกหมายความว่าเศรษฐกิจโลกอ่อนแอมาก

ราคาน้ำมันโลกที่ดิ่งฮวบเป็นประวัติการณ์ ยังส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยย่ำแย่ เพราะธุรกิจพลังงาน (บริษัทในเครือ ปตท.) มีน้ำหนักในตลาดหุ้นมากที่สุด ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงหมายถึงกำไรของเครือ ปตท. ทรุดหนัก มีผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้น

เมื่อมาปะเหมาะกับค่าเงินบาทอ่อนมากที่สุดในรอบ 6 ปี จนเกือบจะแตะ 35 บาทต่อดอลลาร์อยู่แล้วเพราะเงินทุนต่างชาติไหลออกเนื่องจากเก็งว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี

ประกอบกับเศรษฐกิจไทยอ่อนแอกว่าคาด ทำให้นักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตและเตรียมโยกสินทรัพย์ไปสหรัฐ (ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหมดรวมทั้งไทย) ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยอาการหนัก นักลงทุนเสียขวัญ ตลาดเสีย sentiment ไปหมด

ยิ่งค่าเงินบาทอ่อนยิ่งกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติขายทิ้งหุ้นไทย เพราะต่างชาติที่ลงทุนในหุ้นจะไม่ชอบค่าเงินอ่อน

การที่ตลาดหุ้นไทยรูดลงชนิดปรับแนวรับกันไม่ทัน หาก้นเหวไม่เจอ (จากเดิมที่นักวิเคราะห์ต้องปรับแนวต้านใหม่เรื่อยๆ) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนผิดหวังจากการที่การประมูลโครงการรัฐขนาดใหญ่ล่าช้า จากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ก็ถูกเลื่อนไปเป็นปีหน้า

ขณะที่การบริโภคในประเทศอ่อนแอ เพราะชาวบ้านระดับรากหญ้าหน้าแห้งกันหมดเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ แถมยังมาเจอภัยแล้งเข้าไปอีก



เศรษฐกิจไทยยุค คสช. ก็คงเป็นอย่างที่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พูดเอาไว้นั่นล่ะว่า "เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกรรมเก่าเยอะ บุญเก่าใกล้หมด และเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะไทยมีปัญหาในเรื่องโครงสร้าง มีการพึ่งพาคนอื่นมากเกินไป เมื่อเศรษฐกิจโลกแย่ ก็กระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ"

นายเอกนิติบอกอีกว่า ไทยยังมีปัญหาในเรื่องการลงทุนภาครัฐต่ำ ไม่มีการลงทุนมา 10-20 ปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย การวางแผนการลงทุนจึงไม่ต่อเนื่อง

ถ้าจะให้สรุป คงต้องบอกว่า เทียบกันแล้ว ยุคบิ๊กตู่ ซวยกว่ายุคยิ่งลักษณ์เยอะ

ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่าจะกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร จะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร ก่อนความเชื่อมั่นจะดิ่งลึกกว่านี้จนสายเกินแก้

สิ่งที่ควรพิจารณาคือทำอย่างไรจะอัดฉีดเงินเข้ากระเป๋ารากหญ้าได้รวดเร็วเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเฉพาะหน้าเพื่อประคองเศรษฐกิจไปก่อน

ที่ผ่านมามัวคิดแต่เมกะโปรเจ็กต์ที่ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล จนลืมไมโครโปรเจ็กต์ที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วกว่าหรือเปล่า

ส่วนการปรับ ครม. นั้น หากปรับจริง ควรให้มืออาชีพเข้ามาดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด ทหารควรถอยฉากออกไป

แต่ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนอะไร ยังคงนิ่งนอนใจ เชื่อว่าเอาเข้าจริงจีดีพีสิ้นปีอาจเหลือแค่ 1% จากเดิมที่คาดการณ์สวยหรู 4% แต่ต้องปรับลงมาเรื่อยๆ ล่าสุดนี้ สศก. ปรับลงเหลือ 3%

ไม่มีความคิดเห็น: