PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ลุ้นเฮือกสุดท้าย รธน.-คว่ำหรือไม่ แฉ‘เทือก’หวั่นแพ้ซํ้า ยุบิ๊กตู่เขียนรธน.เอง

 ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 10 ส.ค. 2558 07:22

“จาตุรนต์” แฉ “เทือก” ยุ “บิ๊กตู่” เขียน รธน.เอง เหตุผวาแพ้เลือกตั้งซ้ำซาก-บล็อกพรรคคู่แข่งกลับมามีอำนาจ แบ่งทีมกันวางกลไกกินรวบอำนาจ จวก 1 ปีที่ผ่านมาเสียของ แม่น้ำ 5 สายไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย เด็ก พท.อัดซ้ำพูดไปก็น้ำเน่า-วนในอ่าง “เสรี” ไม่เชื่อ คสช.ล้วงร่าง รธน. สปช.เสียงแตก 6 ก๊กโหวตร่าง รธน.ต้องลุ้นโค้งสุดท้ายคว่ำ-ไม่คว่ำ นิด้าโพลจี้ให้โหวตผ่าน รัฐบาลจะอยู่ต่ออีก 2 ปีให้ถามประชามติ ที่ประชุม สปช.เตรียมถกยกเครื่องตำรวจ ดันสูตร ตร.เลือก ผบ.ตร.ตัดตอนการเมืองแทรก
จากกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษเขียนรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูปเองนั้น
“บิ๊กตู่” บินร่วมวันชาติสิงคโปร์
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 ส.ค. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและตัวแทนรัฐบาล ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองวันชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์และครบรอบ 50 ปีการสถาปนาสิงคโปร์ โดยมีประมุขและผู้นำรัฐบาลจากประเทศต่างๆเข้าร่วม อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีบรูไนดารุสซาลาม ดยุกออฟยอร์กแห่งสหราชอาณาจักร ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายกฯนิวซีแลนด์ นายหลี่ หยวนเฉา รองประธานาธิบดีจีน เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อนายกฯเดินทางมาถึงไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่าง ใด เพียงแต่พยักหน้าตอบผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ได้เตรียมเสื้อแดงไปร่วมด้วยหรือไม่เท่านั้น จากนั้นได้เดินเข้าห้องรับรอง ขณะที่ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปด้วย กล่าวว่าได้เตรียมเสื้อสีแดงไปใส่ร่วมงานด้วย เนื่องจากเป็นประเพณีปฏิบัติของวันชาติสิงคโปร์และเป็นการให้เกียรติด้วย ทั้งนี้ นายกฯเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันเดียวกัน เวลา 23.30 น.
นายกฯน้อยยังรอแผนสร้างชาติ
พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทั้งจากแนวทางปฏิรูป คสช.11 ด้าน แผนปฏิรูปของรัฐบาล 11 ด้านที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 37 ด้าน เพื่อวางกรอบกำหนดแนวทางว่าอะไรที่ต้องทำทันที อะไรที่ต้องทำก่อนและหลัง หรือต้องส่งต่อ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องงานปฏิรูป ซึ่งมีตัวแทนร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้วย อาทิ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาหอการค้า สภาอุตสาห-กรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาเกษตรกร ช่วยกันกำหนดยุทธศาสตร์วางแนวทางปฏิรูป เพราะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันทุกด้าน และที่สำคัญต้องถามความต้องการของประชาชนด้วย
รมว.กต.มึน กปปส.ตั้ง “กษิต” คุย ตปท.
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ประสานกับต่างชาติว่า จะตั้งในตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มีเป้าหมายที่ชัดเจนและรู้ว่าอะไรควรไม่ควร แต่เรายังไม่เห็นถึงแนวทางของมูลนิธิฯที่ชัดเจนว่าตั้งแล้วจะช่วยประเทศชาติอย่างไรบ้าง หากช่วยให้ภาพลักษณ์ประเทศดีขึ้นคงเป็นเรื่องดี ซึ่งขอดูการดำเนินการก่อนว่าจะเป็นอย่างไร อย่างไร ก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการมาถูกทางแล้ว เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างชาติเหมือนสถานการณ์ปกติ โดยช่วงการไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็ไม่มีใครสอบถามสถานการณ์การเมืองของไทยและเรื่องโรดแม็ป มีแต่ถามว่าถ้าเลือกตั้งแล้วสถานการณ์ของไทยจะ มั่นคงอยู่แบบนี้หรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา
พท.แฉปม “เทือก” ยุ คสช.เขียน รธน.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.และประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษเขียนรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูปเองว่า เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และมาพูดว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจพิเศษเขียนรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูป มันก็ชัดแล้วว่าเป็นเรื่องการเมือง อย่างเสนอไม่ให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็ชี้ให้เห็นได้ชัด สะท้อนว่าการที่นายสุเทพเคยอยู่กับพรรค การเมืองที่แพ้เลือกตั้งมาตลอด จึงทนไม่ได้ที่จะพ่ายแพ้อีก และคงเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญวางระบบเลือก ตั้ง ที่ต้องการให้แน่ใจว่าพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลต้องไม่กลับคืนสู่อำนาจอีก โอกาสที่พรรคเดิมจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกยังสูงอยู่ และข้อเสนอนี้เท่ากับขยายโรดแม็ป การประกาศใช้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปไม่สิ้นสุด ซึ่งเรื่องนี้ต้องตั้งคำถามกับ คสช.ว่ากล้าไหม สำหรับตนคิดว่าคงยากที่จะให้ คสช.เขียนรัฐธรรมนูญเอง ถ้า คสช.ไม่กล้าทำตามข้อเสนอ เชื่อนายสุเทพคงมีไม้เด็ด ที่ไม่อาจมองข้ามอิทธิฤทธิ์ของนายสุเทพได้
แบ่งสายวางแผนกินรวบอำนาจยาวๆ
นายจาตุรนต์กล่าวว่า สิ่งที่นายสุเทพเสนอสอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า การเมืองต้องมีระบบมากำกับไม่ให้กลับไปเหมือนเดิมอีก และต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เรียกว่ากินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว นายสุเทพไปเน้นระบบเลือกตั้ง ส่วนฝั่งร่างรัฐธรรมนูญวางกลไกที่จะทำให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ยังคงสามารถปกครองประเทศไปต่อได้ อีกยาวนาน ทั้งกำหนดให้ใครมาเป็นรัฐบาล และกำหนด รัฐบาลชุดหน้าต้องทำตามสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กำหนดไว้เท่านั้น ขณะที่ 1 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำ 5 สายไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย อย่างเรื่องไม่ให้ใครมาขัดขวางการเลือกตั้งได้ง่ายๆ ก็ไม่เห็นทำ และที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดฝากให้นักการเมืองไปคุยกันจะปฏิรูปหรือไม่ ฐานะนักการเมืองคนหนึ่งก็ยังไม่เห็นว่ามีการปฏิรูปอะไรเลย แถมไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลและ คสช.ทำอยู่ก็ไม่ใช่การปฏิรูป ตนเชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี หลังเลือกตั้งและรัฐบาลหลังเลือกตั้ง คงไม่มีใครสมัครใจทำตามกลุ่มผู้มีอำนาจบังคับข่มขู่ประชาชนอยู่อย่างนี้
ซัดพูดไปก็น้ำเน่า-วนในอ่าง
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่กล้าทำ หากทำไปยิ่งทำให้ประเทศแย่ลง ประชาชนจะยิ่งไม่ ยอมรับ อย่างไรก็ตาม หากเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาจริงๆ พล.อ.ประยุทธ์ควรใช้อำนาจพิเศษนำรัฐธรรมนูญในอดีตฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้ แล้วเขียนบทเฉพาะกาลแก้ไขเพียงเล็กน้อย เช่น นำรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับที่มีที่มาจาก ประชาชนอย่างแท้จริงมาประกาศใช้แทน นายสุเทพพูดเรื่องประชาธิปไตยไปก็ไม่มีใครฟังแล้ว พูดไปก็น้ำเน่า พายเรืออยู่แต่ในอ่าง
จวกแม่น้ำ 5 สายฉุดรั้ง ปท.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแสดงความอึดอัดใจที่ถูก คสช.กดดันเรื่องการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่น่าเชื่อว่าแม่น้ำ 5 สาย พาประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่มีความเห็นต่างระหว่างคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้วอยู่ต่อ หรือทำประชามติถามประชาชนแล้วอยู่ต่อ ซึ่งข้ออ้างปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนั้น ฟังไม่ได้ เป็นการอ้างเพื่อถ่วงเวลาขออยู่ต่อ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลง อีกทั้งการไม่กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ต่างประเทศเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะกลับสู่การเลือกตั้งหรือไม่ มีสิ่งบ่งชี้หลายอย่างส่งสัญญาณว่า ผู้มีอำนาจต้องการสร้างการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างถาวร การแข่งขัน กันเสนอทางออกของ สปช. โดยไม่สนใจเนื้อหาในร่าง รัฐธรรมนูญเป็นแค่เพียงรูปแบบการวิ่งเต้นเพื่อไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เหมือนเด็กวิ่งแย่งห่อขนมกัน ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่า คนเหล่านั้นยึดประโยชน์ทางการเมืองของตนเป็นหลัก มากกว่าประเทศ ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
กกต.สอน “เทือก” อย่าเป็นคนแก่ขี้บ่น
นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยออกมาวิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของ กกต. ทุกชุดที่ผ่านมาว่า จุดยืนที่ไม่ต่างกับนายสุเทพ ที่อยากเห็นการเลือกตั้ง เป็นไปโดยสุจริต จึงได้พยายามหามาตรการใหม่ๆ นำเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ กกต.กลับมามีอำนาจมีความเด็ดขาดเป็นยักษ์ที่มีกระบองเหมือน กกต.ชุดแรก แต่ กมธ.ยกร่างฯดูไม่สนใจไม่ยอมรับฟัง นายสุเทพและคณะมูลนิธิฯ ก็ต้องไม่เพียงแต่พูด แต่บ่น ตำหนิคนอื่น ท่านต้องช่วยกันเสนอแนวความคิดทางออกให้กับประเทศในเรื่องนี้ด้วย มิฉะนั้นแทนที่ท่านจะใช้ประสบการณ์ทางการเมือง ของท่านที่มีอย่างโชกโชนล้นเหลือ ให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองในยามวิกฤติจะกลายเป็นคนแก่ขี้บ่นอีกคนหนึ่งที่หาสาระไม่ได้เลย
“ปนัดดา” วอนกำนัน-ผญบ.ไม่แบ่งสี
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งกับคณะกำนันและผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม ประจำปี 2558 จำนวน 270 คน ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมวังวรดิศ พิพิธภัณฑ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ว่า กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นข้าต่างพระเนตรพระกรรณของแผ่นดิน อย่าไปเป็นผู้อยู่ใต้บงการของพรรคการเมืองใดๆ ขณะเดียวกัน ต้องช่วยกันกลับฟื้นคืนความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศชาติ ช่วยเสริมสร้างให้ลูกบ้านรักสมัครสมาน ไม่แตกแยกเป็นสี
10 ส.ค. กมธ.ยกร่างฯชี้ขาดที่มา ส.ว.
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาแก้ไขปรับร่างรัฐธรรมนูญว่า ภายในสองสัปดาห์นี้ต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยังค้างหรือเป็นปัญหาที่ถกกันให้ได้ทั้งหมด โดยจะเริ่มพิจารณาในวันที่ 10-11 ส.ค. เช่น เรื่องที่มาของ ส.ว.ว่าจะมาจากสรรหาอย่างเดียว หรือแบบผสมผสาน ซึ่งต้องหารือกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้บทสรุป ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่มีแรงกดดันจาก คสช.ตามกระแสข่าวที่ออกไปว่า ต้องให้ที่มี ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด
โชว์เชปร่างสุดท้ายดีเดย์ 23 ส.ค.
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯต้องการให้ที่มา ส.ว.เป็นแบบพหุนิยม คือมาจากหลากหลายกลุ่มตัวแทนอาชีพ ซึ่งไม่มีโอกาสเข้ามาจากการเลือกตั้งจึงได้ออกแบบให้มีการสรรหา ส.ว.ไว้ 123 คน ส่วนเรื่อง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นตัวแทนจังหวัดตามที่มีเสียงเรียกร้องว่า ควรมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งด้วย แต่ก็มีความเห็นแตกต่างจากหลายฝ่ายว่า ในส่วนสรรหาควรจะมีรูปแบบอย่างไรจากที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 4 ชุดก็ยังถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะจึงต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยยึดหลัก “พหุนิยม” คือมี ส.ว.ทั้งจากสรรหาและเลือกตั้งเป็นเจตนารมณ์สำคัญเพื่อให้มีความแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสะท้อนความหลากหลายของ สังคม โดยอาจปรับเปลี่ยนเรื่องวิธีการสรรหาให้เหมาะสม โดยร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้หลังวันที่ 23 ส.ค. หลังจากส่งให้ สปช.ในวันที่ 22 ส.ค.แล้ว ยืนยันว่าจะทำให้ดี ที่สุด เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดและพร้อมน้อมรับผลที่ออกมา
ปรับ กก.ปฏิรูปหวั่นรัฐซ้อนรัฐแทงใจ
นายคำนูณกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นสำคัญอื่นที่จะมีการพิจารณาคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศและการปรองดอง ที่มีการปรับแก้ให้มารวมกัน ในร่างล่าสุด เพราะไม่เคยมีมาก่อน แต่คณะกรรมการชุดนี้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศชุด 200 คนตามที่มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 โดยต้องมีการระบุในบทเฉพาะกาลว่า จะทำหน้าที่เท่ากับวาระของ สปช.เดิม ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ สภาขับเคลื่อนฯ ที่จะตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญใหม่ควรจะเป็นอย่างไร รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะใช้ตัวแบบคำแก้ไขของ ครม.ที่ขอมา 20 คน โดยไม่อยากให้เป็นกลไกให้อยู่เหนือใครทั้งสิ้น เพราะจะมีนายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯรวมอยู่ด้วย ไม่ให้ใครมีอำนาจอยู่เหนือใคร เพราะมีเสียงสะท้อนว่ากลไกนี้จะกลายเป็นการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ จึงอาจปรับเปลี่ยนเพื่อให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม แต่จะออกแบบอย่างไร มีวิธีการทำงานแบบใด ยังต้องหารือในที่ประชุมให้ได้ข้อสรุปก่อน
“เสรี” ไม่เชื่อ คสช.ล้วงร่าง รธน.
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวถึงกระแสข่าว คสช.แทรกแซงการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวไปแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่ คสช.จะไปแทรกแซงการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ ยังมั่นใจว่า กรณีที่มา ส.ว.จะยังมี ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา ตามเนื้อหาเดิม เพราะหากแก้ไขให้เหลือเฉพาะ ส.ว.สรรหาอย่างเดียวจะถูกครหาได้ ส่วนแนวโน้ม สปช.จะคว่ำหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คงต้องรอให้เห็นร่างสุดท้ายของ กมธ.ยกร่างฯที่จะส่งให้ สปช.พิจารณาในวันที่ 22 ส.ค. จึงจะเห็นทิศทางชัดเจนขึ้น นอกจาก สปช.จะพิจารณาจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คงต้องนำเรื่องสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นมาประกอบการตัดสินใจในการลงมติด้วย
2 กมธ.ตั้งป้อมต้าน 3 ปมร้อน
นายเสรีกล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองและคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายฯ กำลังรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มมีความชัดเจนจาก กมธ.ยกร่างฯ เพื่อเตรียมที่จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดว่า มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรให้สมาชิก สปช.รับทราบ จากการประเมินเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเท่าใด และมีจุดบกพร่องอาทิ 1.เรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ขัดหลักเกณฑ์การบริหารบ้านเมือง เพราะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียร-ภาพการทำงาน 2.นายกรัฐมนตรีคนนอก 3.ที่มา ส.ว. ที่ยังคงให้ ส.ว.มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ทั้งที่ผ่านมา ส.ว.ไม่เคยถอดถอนได้สำเร็จ จึงควรให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ทำหน้าที่แทน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอีกหลายประเด็น ที่กำลังรอดูความชัดเจนจาก กมธ.ยกร่างฯ
ชง สปช.ยกเครื่องกิจการตำรวจ
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ กล่าวว่า ในวันที่ 11 ส.ค.ที่ประชุม สปช.จะพิจารณารายงานของคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจเรื่องการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ มีสาระสำคัญเพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงวงการตำรวจครั้งใหญ่ในหลายด้านได้แก่ 1.การ บริหารกิจการตำรวจให้มีความเป็นอิสระ ลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง 2.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจมีความเป็นธรรม ลดการวิ่งเต้นโยกย้ายและซื้อขายตำแหน่ง 3.การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ให้ได้รับการยอมรับจากข้าราชการตำรวจ เพราะไม่ได้แต่งตั้งจาก ฝ่ายการเมือง แต่แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจด้วยกัน 4.การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง 5.อำนาจการสอบสวนของตำรวจมีความเป็นอิสระ ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซงจากตำรวจชั้นผู้ใหญ่และฝ่ายการเมือง 6.การรับสินบนของตำรวจจะลดลง 7.การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจมากขึ้น
ดันสูตร ตร.เลือก ผบ.ตร.เอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางการปฏิรูปตำรวจตามรายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญ อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้มี 16 คน โดยตำแหน่งประธาน ก.ตร. ให้คัดเลือกจากอดีต ผบ.ตร.หรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยมาจากการลงคะแนนเลือกจากข้าราชการตำรวจระดับยศ พ.ต.อ.ขึ้นไป ส่วนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.นั้น จะให้ ก.ตร.เพียงองค์กรเดียวเป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้ง โดยคัดเลือกข้าราชการตำรวจในตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร.หรือเทียบเท่า จำนวน 3 คน แล้วให้ข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการหรือเทียบเท่า (ยศ พ.ต.อ.ขึ้นไป) ลงคะแนนเลือกให้เหลือ 1 คน เพื่อเสนอ ก.ตร.นำเสนอนายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.ต่อไป จะทำให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. ต้องสั่งสมผลงานมาเป็นระยะยาวพอสมควร ไม่ใช่วิ่งเต้นรับใช้นักการเมืองอย่างเดียว
เฉือนชิ้นปลามันให้องค์กรอื่นไปคุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากนี้ ยังให้ถ่ายโอนภารกิจบางส่วนให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรงไปดำเนินการ เพื่อลดภาระหน้าที่ของตำรวจ อาทิ ภารกิจจราจรให้ กทม. เมืองพัทยา และองค์กรปกครองท้องถิ่น ภารกิจป้องกันปราบปรามความผิดทางทรัพยากรธรรมชาติไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจตำรวจน้ำไปให้กระทรวงคมนาคม และภารกิจการตรวจคนเข้าเมือง ไปให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงต่างประเทศดำเนินการ
ให้ กก.ประเมินผลฯเช็กงบ สสส.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ยกร่างวันที่ 10-11 ส.ค. จะมีการพิจารณาเรื่องที่ค้างไว้ 2 ประเด็นคือ 1.ที่มาคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2.ที่มา ส.ว. ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปออกมา เพราะยังมีสมาชิก กมธ.ยกร่างฯบางคนต้องการแก้ไขหลักการเรื่องที่มา ส.ว. ซึ่งต้องรอดูว่าที่ประชุมจะเห็นเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และไทยพีบีเอส ต้องของบประมาณโดยผ่านการเห็นชอบจากสภาฯนั้น กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 11 ส.ค.
แต่เชื่อว่าที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการให้ทั้งสององค์กรต้องของบประมาณโดยผ่านสภาฯ เพียงแต่อาจมีการปรับแก้ในประเด็นการตรวจสอบการใช้งบของทั้งสององค์กร เพราะที่ผ่านมา ทั้ง 2 องค์กรมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบ ตนจะเสนอให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ มาทำหน้าที่ตรวจสอบบอร์ดบริหารของ 2 องค์กรนี้เพื่อให้ประ-ชาชนรับทราบ
ติงคว่ำ รธน.-ปฏิรูป 2 ปีจุดวิกฤติใหม่
วันเดียวกัน นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่เดือนสุดท้ายของหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอีกครั้ง เมื่อ สปช.จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันลงมติรัฐธรรมนูญทั้งการคว่ำรัฐธรรมนูญ จนถึงประชามติให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี การกระทำใดๆช่วงนี้ล้วนมีผลต่ออนาคตของประเทศ ซึ่งจุดยืนของนายกรัฐมนตรีที่ยึดมั่นการเดินตามโรดแม็ปถูกต้องแล้ว เพื่อช่วยให้ประเทศไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อโรดแม็ป มีแต่สร้างความขัดแย้งซ้ำเติมประเทศ ซึ่งการเดินตามโรดแม็ปและร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องจะดีที่สุดสำหรับประเทศ ดังนั้น ข้อเสนอให้คว่ำรัฐธรรมนูญหรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี แฝงความพยายามหาทางออกให้ประเทศ แต่เกรงว่าจะก่อวิกฤติความขัดแย้งครั้งใหม่ สู้ให้ประเทศเดินตามโรดแม็ปจะดีกว่า
สปช.แตก 6 ก๊กโหวตร่าง รธน.
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันที่ 7 ก.ย. ว่าจากการประเมินท่าทีและจุดยืนของ สปช.ทั้ง 249 คน แบ่งได้เป็น 6 กลุ่มคือ 1.สปช. 20 คนที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มนี้ตัดสินใจนานแล้วจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแน่นอน 2.กลุ่มที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งได้ตัดสินใจแล้วว่า จะลงมติให้ผ่านแน่นอน เนื่องจากเห็นว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญดีเป็นส่วนใหญ่ มีไม่ถูกใจเพียงเล็กน้อย เป็นกลุ่มที่ไม่ชอบความขัดแย้ง และถือว่า ร่วมงานปฏิรูปและจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยกันมา จะให้คว่ำรัฐธรรมนูญไม่ได้ 3.กลุ่ม สปช.22 คนที่เสนอให้ตั้งคำถามประชามติสอบถามเรื่องการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง กลุ่มนี้จะลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน 4. กลุ่มที่จะลงมติไม่ให้ผ่านแน่นอน เพราะเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนจะเกิดปัญหาในวันข้างหน้า และประเมินว่าสถานการณ์ของประเทศยังวางใจไม่ได้ว่า เมื่อ สปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และผ่านการทำประชามติ จะไม่เกิดปัญหาในอนาคต จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการคว่ำในขั้นตอนลงมติ สปช. 5.กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ โดยขอดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อน 6.กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ โดยขอดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และบรรยากาศทางการเมืองก่อน ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่า ผลลงมติจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าประเมินขณะนี้ สปช.ที่อยากให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญยังมีมากกว่า
เตือนสติ สปช.ยึดประเทศเป็นตัวตั้ง
นายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช. กล่าวว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต้องเอาบ้านเมืองและเหตุผลเป็นตัวตั้ง การลงมติจะต้องเข้าใจเนื้อหา ต้องรอบคอบและคำนึงถึงทุกมิติ ที่สำคัญต้องไม่ลืมสาเหตุหลักว่า ทำไมถึงต้องปฏิรูปประเทศและทำไมจึงต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้ารัฐธรรมนูญดีจริง ตอบโจทย์ได้ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ผ่าน ถึงแม้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ไม่ใช่ทางตัน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้เขียนทางออกไว้แล้ว
“ยะใส” ให้ทำความเห็นส่วนตัวลงมติ
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงการลงมติของ สปช.ในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอเสนอให้ สปช.ทั้ง 249 คน ทำความเห็นส่วนตัว เพื่อแถลงต่อสาธารณะประกอบการลงมติว่า เหตุใดจึงตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในลักษณะคล้ายๆกับกระบวนการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แม้กระบวนการลงมติครั้งนี้จะทำโดยเปิดเผยขานชื่อเรียงตัวก็ตาม แต่เป็นไปได้ว่า สปช.หลายคนอาจโหวตตามกระแสหรือการล็อบบี้ ซึ่งประชาชนไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ว่า แรงจูงใจในการโหวตเกิดจากอะไร เป็นตัวของตัวเองหรือไม่ แต่ถ้า สปช. ทุกคนทำคำแถลงส่วนตนแล้วเปิดเผยผ่านสาธารณะ จะทำให้การลงมติมีความสง่างาม ไม่ถูกมองว่า มีเบื้องหลัง ไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาทางใดก็ตาม สาเหตุที่เสนอเช่นนี้ เพราะเป็นห่วงว่า การลงมติของ สปช.อาจมีแรงจูงใจทางอื่นมาเจือปน ทำให้การลงมติเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ควรจะทำ
“เทียนฉาย” ออกจาก รพ.เร่งงานต่อ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงอาการป่วยโรคปอดอักเสบว่า เพิ่งออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 9 ส.ค. หลังจากเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.จุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยแพทย์ระบุว่าเกิดจากปอดติดเชื้อไวรัส ต้องใช้เวลาฟื้นตัว และพักรักษาเป็นเดือน แต่ขณะนี้ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ยังทำงานไหว เพราะเป็นช่วงที่งาน สปช.ต้องเร่งทำให้เสร็จ
โพลจี้ สปช.โหวตผ่านร่าง รธน.
“นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “สถานการณ์ทางการเมือง จากนี้เป็นอย่างไร” จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องการเห็นจากนี้ไป พบว่า ร้อยละ 74.66 ระบุว่า เป็นไปตาม Road Map ของ คสช. คือ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจาก สปช. และจากการลงประชามติของประชาชน ทำให้มีการเลือกตั้งประมาณเดือนกันยายนปี 2559 รองลงมา ร้อยละ 8.95 ระบุว่า สปช. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 6 เดือน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปประมาณต้นปี 2560
รัฐบาลจะอยู่ 2 ปีต้องถามประชามติ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชนว่าจะให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.54 ระบุว่า เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะจะได้ทราบถึงเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ชัดเจนไปเลยว่า คิดเห็นอย่างไร เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีสิทธิและมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งทุกวันนี้ในสังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่าง รัฐบาลควรรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนที่จะตัดสินใจเอง และจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ขณะที่ ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะ เป็นการสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณ ควรปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการไปตาม Road Map ควรเร่งจัดการการเลือกตั้งทีเดียวไปเลย และร้อยละ 4.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สวนดุสิตโพลเชียร์ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,204 คน เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทย” ในทัศนะประชาชน พบว่า ร้อยละ 47.06 ควรปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อน แล้วจึงมีการเลือกตั้ง ร้อยละ 22.07 ควรเดินตามโรดแม็ป โดยมีการเลือกตั้งในปีหน้า ร้อยละ 14.83 อย่างไรก็ได้ แล้วแต่นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 9.31 เลือกตั้งให้เร็วที่สุดก่อนโรดแม็ปกำหนดไว้ และร้อยละ 6.73 อื่นๆ อาทิ อยากให้เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนก่อน ดำเนินการกับข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง
ชมเปลี่ยนคนลุยถอดยศ “ทักษิณ”
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีส่งเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมอบให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ดูแลแทน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ว่า เป็นเรื่องเซียนเหนือเซียน เชื่อว่าจะมีคำตอบให้ประชาชนได้ภายในหนึ่งเดือนตามที่ พล.อ.ไพบูลย์ ระบุจะถอดยศหรือไม่ เพราะถ้าเรื่องยังคาอยู่ที่ สตช.จะทำให้ไม่มีความคืบหน้าแน่ จึงเห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ให้กระทรวงยุติธรรมเข้ามาดูแลเพื่อให้ได้ข้อสรุปนี้ต่อสังคม
ยุ “บิ๊กตู่” ชักดาบค่าโง่คลองด่าน
นายวัชระกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจจ่ายเงินค่าโง่กรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน กว่า 9 พันล้านบาทว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผู้เสียภาษีให้รัฐจำนวนมากว่า ขอคัดค้าน เพราะนายกฯมีอำนาจใช้มาตรา 44 ในการตัดสินปัญหา แทนที่จะนำงบประมาณแผ่นดินมาจ่ายค่าโง่นี้ ขอให้สั่งทบทวนหรือจ่ายแค่ครึ่งเดียว ไม่จำเป็นต้องมารับผิดชอบการโกงของข้าราชการประจำและนักการเมืองถึง 9 พันล้านบาท ตนจะทำหนังสือทักท้วงเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป และขอเสนอให้ใช้มาตรา 44 ชักดาบเริ่มด้วยการชะลอหรือระงับการจ่ายเงินไว้ก่อนเพราะมีอำนาจเหนือทุกฝ่ายและดำเนินการให้โปร่งใส
เสื้อแดงเจอเบรกจัดกิจกรรมหน้าคุก
ด้านความเคลื่อนไหวกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อเวลา 14.00 น. กลุ่มเมล็ดพริก นำโดย น.ส.เสาว-ลักษณ์ โพธิ์งาม และ น.ส.เพียงคำ ประดับความ นัดหมายมวลชนเสื้อแดงราว 40 คน รวมตัวหน้าป้ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ติดถนนงามวงศ์วาน เพื่อจัดกิจกรรม สนทนาหน้าคุกตอนที่ 1 เรื่อง “สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน การซ้อมทรมานภายใต้รัฐประหาร” เพื่อสะท้อนกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎอัยการศึก และ ม.44 ปรากฏว่าก่อนกิจกรรมจะเริ่ม พ.ต.อ.ธนันท์ธร รัตนสิทธภาคย์ ผกก.สน.ประชาชื่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ขนแผงรั้วเหล็กมาล้อมลานหน้าป้ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สกัดกั้นการรวมตัวของมวลชนกลุ่มเมล็ดพริก
ก่อนสั่งห้ามขาดว่าหากมีการรวมตัวต้องไม่มีการใช้เครื่องเสียง และการพูดคุยเรื่องการเมือง โดยขู่ว่าหากฝ่าฝืนจะจับกุม ทางกลุ่มจึงต้องยอมมาใช้พื้นที่ริมฟุตปาท นั่งล้อมวงสนทนา เรื่องสิทธิมนุษยชน และมีการชูป้ายเรียกร้องยุติการซ้อมทรมานผู้ต้องหา เรียกร้องให้มีการประกันตัวนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน และผู้ต้องหารายอื่นๆ จากนั้นเวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมล้อมวงจุดเทียน ร้องเพลงแสงดาวศรัทธาแล้วสลายตัวกลับ

ไม่มีความคิดเห็น: