PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

องค์กรสิทธิระหว่างประเทศ 8 กลุ่มเข้าชื่อเรียกร้องไทยถอนฟ้องนักข่าวภูเก็ตหวานกรณีข่าวโรฮิงญา

องค์กรสิทธิระหว่างประเทศ 8 กลุ่มเข้าชื่อเรียกร้องไทยถอนฟ้องนักข่าวภูเก็ตหวานกรณีข่าวโรฮิงญา
ทั้ง 8 กลุ่มได้เผยแพร่เนื้อหาจดหมายที่พวกเขาส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงวันที่ 9 ก.ค. เสนอให้รัฐบาลทบทวนและถอนฟ้อง นายอลัน มอริสัน และ น.ส. ชุติมา สีดาเสถียร กรณีที่เสนอข่าวการลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
แปดกลุ่มนี้ประกอบด้วยกลุ่ม Human Rights Watch, Amnesty International, Federation for Human Rights หรือ FIDH, Southeast Asian Press Alliance (SEAPA), Forum Asia, ASEAN Paliamentarians for Human Rights, นิติศาสตร์สากล หรือ International Commission of Jurists และ World Organization Against Torture (OMCT)
จดหมายของพวกเขาระบุว่า การดำเนินคดีนักข่าวทั้งสองคนในข้อหาหมิ่นประมาทและละเมิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ จดหมายบอกว่า พวกเขาถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว
จดหมายดังกล่าวอ้างถึงมาตรการของกองทัพเรือที่ฟ้องร้องนักข่าวทั้งสอง ซึ่งเสนอข่าวการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อ 17 ก.ค. 2556 ซึ่งบทความที่ตีพิมพ์โดยภูเก็ตหวานนั้น ได้อ้างอิงข้อความมาจากการรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ในประเด็นเดียวกัน ภายใต้พาดหัวว่า “รายงานพิเศษ: ทางการไทยเกี่ยวข้องเครือข่ายลักลอบขนโรฮิงญา” โดยข้อความดังกล่าวอยู่ในย่อหน้าหนึ่งของเนื้อข่าว และเนื้อความของรายงานดังกล่าวกองทัพเรือไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด
จดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของ 8 องค์กรยังเสนอแนะว่า แทนที่จะฟ้องร้องนักข่าวซึ่งเป็นมาตรการที่รุนแรงและขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิ่งที่กองทัพเรือและทางการไทยสามารถจะทำได้มีหลายอย่าง เพื่อตอบโต้และแสดงความห่วงกังวลต่อข่าวดังกล่าว เช่นการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวทั้งสอง ขอให้ตีพิมพ์เรื่องราวจากทางฝ่ายของกองทัพเพิ่ม หรือออกแถลงการณ์แสดงท่าทีหรือชี้แจงเรื่องราวจากฝ่ายกองทัพ ซึ่งเวลานี้ยังไม่สายเกินไปที่ทางการไทยจะทำเช่นนั้นแทนที่จะดำเนินคดีกับนักข่าว และจะเป็นการแสดงความเคารพในสิทธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลของอีกหลายประเทศวิตกเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลไทยในเวลานี้ เพราะการดำเนินการฟ้องร้องนักข่าว จะทำให้ไทยละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
นอกจากนี้จดหมายกล่าวด้วยว่า ทั้ง 8 องค์กรเห็นด้วยกับรัฐบาลอีกหลายประเทศว่าไทยควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา เพราะบทลงโทษมักมากเกินความผิดที่เกิดขึ้นจริง พร้อมกับชี้ว่า หลักการที่นานาประเทศใช้คือเปิดให้มีการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นต่อการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐได้ ยกเว้นในกรณีที่มีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง จดหมายระบุด้วยว่า การใช้มาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไปดำเนินคดีนักข่าวภูเก็ตหวาน สร้างความวิตกว่าจะมีการตีความกฎหมายมาตรานี้ไปเพื่อใช้ในการปราบปรามเสรีภาพสื่อ
จดหมายยังบอกด้วยว่า การที่รัฐบาลไทยยังคงใช้มาตรการนี้ต่อไป เท่ากับเป็นการสวนทางกับสิ่งที่ได้แถลงไว้ในรายงานของประเทศไทย ที่นำเสนอประกอบการทบทวนสถานการณ์ปัญหาสิทธิในประเทศของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อ 5 ต.ค. 2554 ที่ระบุว่า จะให้หลักประกันในการแสดงออก รับรองสิทธิเสรีภาพ ไม่ให้มีการสั่งปิด และแทรกแซงสื่อ


ไม่มีความคิดเห็น: