PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ความเป็นมา “จีน-ตุรกี” ตึงเครียด ปมชาวอุยกูร์

10/7/58 สปริงนิวส์

ดูเหมือนว่าไทยจะถูกลูกหลง กรณีความตึงเครียดระหว่างจีนกับตุรกี  ซึ่งมีต้นเหตุมาจากชนเผ่าอุยกูร์ โดยกลุ่มผู้ประท้วงประมาณ 100 คน  ส่วนใหญ่เป็นชาวเติร์กเชื้อสายอุยกูร์  ตรงเข้าปล้นสะดม และทำลายทรัพย์สินในอาคารสถานกงสุลไทย ประจำกรุงอิสตันบูลของตุรกี หลังมีรายงานว่า ไทยจะส่งตัวชาวอุยกูร์ 200 คน กลับคืนไปให้จีน

หากไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็แทบจะไม่มีใครให้ความสนใจสถานการณ์ในตุรกีขณะนี้   ซึ่งเกิดกระแสต่อต้านคนจีนอย่างรุนแรง  คนมุสลิมในตุรกี สืบเชื้อสายและมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาใกล้ชิดกับชาวอุยกูร์ทางตะวันตกของจีน ดังนั้น พอมีข่าวว่า ชาวอุยกูร์ในจีนถูกห้าม ไม่ให้ถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน จึงทำให้เกิดการประท้วงในตุรกี  ขณะที่จีนก็ออกมาตอบโต้ข่าวนี้ว่า  เป็นข่าวที่ถูกสื่อตะวันตกโหมกระพือให้ดูเกินจริง  ทั้งที่จีนเคารพในเสรีภาพในความเชื่อของชาวมุสลิมมาโดยตลอด

แต่ดูเหมือนว่าถ้อยแถลงของจีน จะไม่ช่วยให้กระแสต้านจีนในตุรกีบรรเทาลง   ตรงกันข้าม การประท้วงยังลามมาถึงการบุกโจมตีร้านอาหารจีนในกรุงอิสตันบูลอีกด้วย  ทั้งยังเกิดการทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกด้วย  สื่อในตุรกีรายงานว่า  แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี ที่มีหน้าตาคล้ายคนจีน ก็พลอยถูกลูกหลงไปด้วย เรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนต้องประกาศแนะนำประชาชนที่จะไปเที่ยวตุรกี และเตือนพวกเขาอย่าไปเข้าใกล้จุดที่มีการประท้วง

เมื่อถามว่า ชาวอุยกูร์คือใคร “อุยกูร์” คือชนเผ่ามุสลิมเติร์ก  ในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน  มีชาวอุยกูร์ถึง 45%  ส่วนชาวจีนฮั่นมีอยู่ 40%  ซึ่งพื้นที่ตรงส่วนนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของเติร์กเมนิสถานตะวันออกมาก่อน  ก่อนจะถูกจีนเข้าครอบครองเมื่อปี 1949  ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จึงเป็นชาวเติร์ก ก็คือชาวอุยกูร์นั่นเอง หลังจากนั้น จีนพยายามกลืนชนชาติอุยกูร์  ด้วยการส่งชาวจีนฮั่น ไปตั้งรกรากในพื้นที่นั้นให้มากๆ   ส่งผลให้ชาวอุยกูร์เกรงว่า วัฒนธรรมของตนจะถูกทำลาย และปัจจุบันนี้  พื้นที่ตรงส่วนนั้นก็ถูกยกให้เป็นเขตปกครองพิเศษในจีน สถานภาพคล้ายทิเบตที่อยู่ทางใต้

แม้ชาวอุยกูร์จะอยู่ในเขตปกครองพิเศษที่จีนจัดตั้งขึ้น  แต่ก็ยังมีบางส่วน คิดหลบหนีออกจากจีน  และส่วนใหญ่ก็มักจะหนีเข้าไปในตุรกี เมื่อปี 2009  มีชาวอุยกูร์กว่า 300,000 คน อยู่ในตุรกี  และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะมีชาวอุยกูร์ หนีออกจากจีน เข้าไปในตุรกีมากขึ้น  เพราะทนไม่ได้ที่ถูกทางการจีนออกกฎบังคับกิจกรรมทางศาสนาอย่างเข้มงวด  ตำรวจจีนมักเรียกตัวชาวอุยกูร์ไปไต่สวน ว่าทำไมต้องไว้เครา  ทำไมต้องอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน  ทำไมผู้หญิงต้องเอาผ้าปิดบังใบหน้า  ทั้งยังเกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคมระหว่างชาวอุยกูร์ กับชาวจีนฮั่น

คนที่อยู่ในซินเจียงบอกว่า จีนออกกฎให้ผู้หญิงในซินเจียงห้ามใส่ผ้าคลุมปิดบังใบหน้าหรือศีรษะ ชาวอุยกูร์ไม่อนุญาตให้ซื้อมีดในบางพื้นที่ ชาวอุยกูร์ถูกคุมเข้มเรื่องการสวด  ถ้าอายุยังไม่ถึง 18 ปี ห้ามไปสุเหร่า ชาวอุยกูร์ที่จะแต่งงานกันต้องไปจดทะเบียนกับรัฐบาลจีน ห้ามไปแต่งงานกันอย่างลับๆ โดยมีอิหม่ามเป็นผู้จัดการให้ และให้ชาวอุยกูร์สูงวัยเท่านั้น ที่ไว้เคราได้

ชาวอุยกูร์บางส่วนที่หนีจากจีนมาอยู่ในตุรกี จึงรู้สึกเหมือนเกิดใหม่  เพราะที่นี่มีเสรีภาพในเรื่องศาสนาและการแต่งกาย  ดังนั้น พอมีข่าวว่าไทยจะส่งชาวอุยกูร์ 200 คนกลับคืนไปให้จีน  จึงทำให้ชาวอุยกูร์ในตุรกีไม่พอใจ  และโจมตีสถานกงสุลไทยขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: