PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เสียงด่านมากกว่าชมกรณีส่งกลับอุยกูร์ไปให้จีน

การคำนวนค่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างง่าย
หลังจากรัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ (Uighur) จำนวน 109 คนไปจีนแล้วประเทศไทยได้รับปฏิกิริยาจากนานาชาติดังนี้
UNHCR คือสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ "ตกใจ" ถึงขั้น ซ๊อคที่ได้รู้ข่าวนี้
รัฐบาลตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่พวกเขาอยากจะไปอยู่เสียใจที่ได้รับข่าว
สหรัฐ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรด้วยเท่าไหร่ ถึงกับประนามเลยทีเดียว
Human Rights Watch องค์กรแรกๆที่เตือนให้นักข่าวตามข่าวการส่งกลับ ก็อยู่ในอาการซ๊อคเช่นกัน
รัฐบาลจีน ซึ่งน่าจะแสดงการขอบคุณและออกมาปกป้องไทยอย่างทันท่วงที เมื่อวานโฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศจีนพูดแค่ว่า ผู้ย้ายถิ่นผิดกฏหมายรบกวนระเบียบระหว่างประเทศในการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆ รัฐบาลจีนมีนโยบายชัดเจนว่าผู้ฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวเป็นอาชญากรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
สรุปได้ไม่คุ้มเสีย เพราะโดนด่ามากกว่าชม
แต่พูดแค่นี้ก็ไม่เป็นธรรม เพราะตั้งแต่ตามข่าวประเภทนี้มายังไม่เจอกรณีใดเลยไม่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด่า แต่ข้อสังเกตุคือ ถ้าให้ทหารจัดการเรื่องนี้เมื่อไหร่โดนด่าเยอะสุด เพราะว่า ทำแบบไม่แคร์สายตาชาวโลกเลย (ไม่แคร์สื่ออยู่แล้วไม่ว่ากัน)
ความจริงมีวิธีมากมายที่จะทำเรื่องนี้ได้ง่ายๆแบบไม่โดนด่ามาก วิธีที่นิยมกันมากคือ มอบให้ยูเอ็นและเอ็นจีโอระหว่างประเทศจัดการหรือสื่อสารผ่านพวกเขา อาจารย์ใหญ่ของผมท่านบอกว่า ยูเอ็นมันเป็นองค์กรที่น่ารำคาญที่มาช่วยเฉลี่ยกระจายบาปเรื่องนี้ได้ดีที่สุด
อีกที่วิธีหนึ่งที่รัฐบาลจะโดนด่าน้อยลงคือ เอาเข้ากระบวนการยุติธรรม ตัวอย่างเรื่องนี้คือ จับกุมเขาในฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ฟ้องศาลเพื่อส่งกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ศาลจะไต่สวน ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเขามาจากไหนก็ส่งกลับไปทางนั้น ผลอาจจะออกมาเหมือนกันแหละพวกเขาอาจจะต้องกลับไปจีน แต่กระบวนการในพิจารณาในศาลนั้นเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปฟังได้ (สมัยก่อนผมหาข่าวนี้แถวตีนโรงตีนศาลนั่นแหละ) ยูเอ็น เอ็นจีโอ รับรู้หมด
แต่ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม หลักสากลที่สุดที่ต้องคำนึงถึงคือ หลักกฎหมายระหว่างประเทศ non-refoulement คือการทีว่าจะไม่มีการผลักดันให้ผู้อพยพหรือลี้ภัยต้องกลับเข้าไปสู่การลงโทษในประเทศที่เขาหนีออกมา ผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองจากหลักการนี้คือ ผู้ที่มีสิทธิได้สถานะผู้อพยพหรือลี้ภัย (ส่วนใหญ่เป็นภัยการเมือง)
ทุกแถลงการณ์ที่ตำหนิการกระทำของรัฐบาลไทยนั้นอ้างหลักการนี้เหมือนกันหมด ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลไทยดำเนินการตามหลักกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศกลับไม่สามารถอ้างหลักการใดในกฎหมายและพันธกรณีเช่นว่านั้นเลย
ถ้าจะว่าไปเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นอะไรที่น่าสงสารมากในเวลานี้ คือ ไม่ได้ตัดสินใจทำอะไรกะเขาเลยสักอย่าง แต่ต้องอธิบายการกระทำของทหารที่ตัวเองก็ไม่เห็นด้วย (มันน่าช้ำใจจริงๆกับมาดแมนๆของทหารไทยที่ชอบปล่อยอาจมให้เพื่อนร่วมชาติเช็ด)

ไม่มีความคิดเห็น: