PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

(ย้อนหลัง2554)น้ำท่วม..ล้างบาง


น้ำท่วม..ล้างบาง
บทความ วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ.2554 12:16น.
352428
ห้วงเวลานี้ของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" มีวาระสำคัญหลายเรื่อง ที่ถูกจับตาการทำงานและพิสูจน์ทราบฝีมือจากหลายฝ่าย ไม่แต่เฉพาะสถานการณ์ความเดือดร้อนของผู้คนทั่วประเทศ จากภัยน้ำท่วมที่ถือเป็นความสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องเข้าไปจัดการ หรือ ปรากฏการณ์ตลาดหุ้นไทยร่วง จากสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯ ยุโรป จากการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ของกรีซ ที่กำลังหวั่นวิตกจากห้วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ที่ดัชนีปรับตัวลดลงต่ำ จากระดับ ๑,๐๐๐ จุด ในวันพฤหัส (๒๒ ก.ย.) และยังต่ำลงเรื่อยในวันรุ่งขึ้น (๒๓ ก.ย.) กระทั่ง เปิดทำการวันจันทร์ (๒๖ ก.ย.) ที่แดงทั้งกระดาน ร่วงลงไปและทำท่าจะต่ำกว่า ๙๐๐ จุด กระทั่งเกิดความโกลาหลกับเหตุขัดข้องการซื้อขาย ท่ามกลางข่าวลือ "หยุดพักการซื้อขาย" เนื่องจาก หุ้นตกเกิน ๑๐% คือ ต่ำกว่า ๙๐๐ จุด ทั้งที่เป็นเพราะระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง ที่วันนี้ ยังต้องลุ้นว่า จะทานไว้ที่ ๙๐๐ จุด ได้หรือไม่? …. และยังมีสถานการณ์การแต่งตั้งโยกย้ายในหลายส่วน ที่ลุ้นจดจ่อ ทั้ง กระทรวงมหาดไทย กลาโหม และตำรวจ โดยเฉพาะในส่วนของมหาดไทย ที่หลายฝ่ายโฟกัสไปที่การแต่งตั้งโยกย้าย ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีสัญญาณมาแล้วว่า มีจังหวัดใดบ้าง ที่ถูกหมายตาจากฝ่ายการเมือง โดยหลายจังหวัด กำลังมีผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ที่จะกลายเป็น "เหตุผล" ข้ออ้างจากฝ่ายการเมือง หลังจากนี้

ขณะเดียวกัน ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและด้วยการรายงานของสื่อมวลชน ทำให้หลายคนได้เห็นภาพของความเดือดร้อนชาวบ้าน ในหลายจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม กระทั่ง นำมา ซึ่งการออกมาแสดงความไม่พอใจกับการที่ฝ่ายทางการ ดูเทอะทะ ชักช้า ไม่ทันการกับการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และตามมาด้วยการลุกฮือ เคลื่อนไหวช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการพังพนังกั้นน้ำ และเกิดกระทบกระทั่งระหว่างชุมชนเขตเมืองกับรอบเมือง และลุกลามเป็นระดับชุมชนข้ามจังหวัดกับจังหวัด ขยายตัวไปตั้งแต่เหตุการณ์ชาวบ้าน ในชุมชนวัดสิงห์ จ.ชัยนาท ลามมาถึง จ.สุพรรณบุรี จ.ลพบุรี และ จ.นครสวรรค์ ไล่เรียงลงมายังภาคกลางหลายจังหวัด อาทิ อยุธยา ปทุมธานี นครนายก...ที่ต่างออกมาไม่ยอมให้มีการปล่อยน้ำลงมาอีก ขณะที่ เขื่อนใหญ่ ๆ หลายแห่งก็เหลืออีกเพียงไม่ถึง ๑๐% จนต้องเร่งระบายน้ำออกและกระทบกับพื้นที่ แน่นอนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่นับรวมอิทธิพล "พายุไห่ถาง" จากเวียดนาม ที่เข้าไทย (27ก.ย.) ซึ่งจะตามมาด้วยฝนอีกหลายพื้นที่อีสานและภาคตะวันออก

โดยเหตุการณ์ดังกล่าว "ผู้ว่าราชการจังหวัด" ต่าง ๆ "กรมชลประทาน" ในฐานะข้าราชการฝ่ายปฏิบัติ ที่ต้องรับผิดชอบกับ "การจัดการน้ำ" รวมถึง รัฐบาลเองในฐานะ "ฝ่ายบริหาร" จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้กับสถานการณ์เฉพาะหน้า จากน้ำท่วมที่เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าของชาวไทย ไม่แต่เฉพาะคนเมือง หรือ คนชนบท ที่ย่อมจะรู้สึก "ไม่พอใจ" และกำลังปะทุไปสู่ "เงื่อนไขอื่น" ที่ถึงที่สุด จะนำไปสู่ผลกระทบกับ การจะอยู่หรือไปของรัฐบาลในบรรทัดถัดไป หากสถานการณ์ไม่พอใจ บานปลายมากกว่าที่เห็นจาก "วัดสิงห์ โมเดล" 

ไม่แปลกที่สถานการณ์ "กระแส" แบบนี้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ถึงขนาดต้องลงมา "บัญชาการ" เอง แบบ "เกาะติด" (แม้จะผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์) ให้ทุกฝ่าย รวมถึง "ชาวบ้าน" ได้เห็นภาพ แม้ลึกในใจคือ เขา "ยังไม่พอใจ" ที่ยังต้องเผชิญชะตากรรมถูกน้ำท่วม ที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ ในชีวิต จากความล่าช้าในการจัดการ รวมถึง การไม่สามารถ "รวมศูนย์" ได้อย่างเป็นระบบของรัฐบาล ในการจัดการกับภัยพิบัติ ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายปฏิบัติงานหลายส่วน ไม่เฉพาะ แต่"กรมชล" ควรมี "บทเรียน" ประสบการณ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ใน "รัฐบาลอภิสิทธิ์" มาแล้ว

ไม่แปลกที่ ฝ่ายการเมือง ไม่ว่าฝ่ายค้าน หรือ รัฐบาล ที่ผ่านมา มักจะใช้เงื่อนไขนี้ "โยนภาระ" ให้กับ "ข้าราชการ" ว่า ไม่ร่วมมือ หรือ ขาดศักยภาพ ดังอาการที่ปรากฏของนายกฯ ต่อความไม่พอใจการทำงานของหลายจังหวัด ทั้งที่เหตุผลแท้จริงเป็นเรื่อง "งูกินหาง" ระหว่าง "ข้าราชการ" กับ "นักการเมือง" ที่ฝ่ายหนึ่งควรอ้างได้เช่นกันว่า ที่เขาขาดพร่อง เพราะ "นักการเมือง" เข้ามาแล้วก็ย้าย ๆ จนไม่มีใครที่เชี่ยวชาญกับ "ปัญหา" ที่จะสามารถรับมือได้ ขณะที่ อีกฝ่ายก็อ้างว่า "ข้าราชการ" เกียร์ว่างกับสถานการณ์น้ำท่วม ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน รวมถึง เศรษฐกิจหนนี้

เป็นสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วม ที่ถึงนาทีนี้ ควรยอมรับว่า การทำงานของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" กับสถานการณ์นี้ ยังไม่เข้าตา "ประชาชน" อันไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้วของ "รัฐบาลอภิสิทธิ์" เป็นไปตามผลของโพลสำรวจ

เป็นสถานการณ์ "ความรู้สึก" ที่ในทางหนึ่งอาจต้องยอมรับในความ "ใหม่" ของรัฐบาล ที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ ที่ยังไม่เข้าขากับฝ่ายปฏิบัติ อย่าง "ข้าราชการ" ที่นำมา ซึ่ง "ท่าที" ของฝ่ายราชการที่ "รับไม่ได้" กับการเข้ามาโยกย้ายพวกเขา...ทันทีที่เข้ามาสู่อำนาจ อันนำมาซึ่งท่าทีของฝ่ายการเมือง

เป็นการ "โยกย้ายข้าราชการ" ที่ถูกมองว่า เป็นการ "ล้างบาง" ที่มิอาจปฏิเสธว่า มี "หลักคิด" ในเรื่องของ "การเมือง"เข้ามาเจือปนเกี่ยวข้องที่อาจจะมากกว่า "เหตุผล" ในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายราชการ อันพิสูจน์ทราบตั้งแต่กรณีการแต่งตั้งโยกย้าย ในแวดวงสีกากี จากหัวยันหาง ที่อ้างจากเรื่อง "อบายมุข-บ่อน" หรือ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งโยงไปสู่เรื่องนโยบายต่างประเทศกับเขมร ที่อาจจะเว้นวรรคบ้าง สำหรับแวดวงกองทัพที่ "ฝ่ายการเมือง" เผชิญกับ"เงื่อนไข" จากฝ่ายทหารและยังไม่กล้า "หักด้ามพร้าด้วยเข่า" ระยะนี้

น่าสนใจว่า ทั้งหมดทั้งมวล ถึงที่สุดที่ควรจะเป็นอย่างยิ่ง คือ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ให้ได้รวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ใช่มัวแต่มาจัดทัพ เพื่อ "อำนาจ" หรือ "ตั้งแง่" ไม่ว่าจะเป็น ฝ่าย "ข้าราชการประจำ" หรือ"นักการเมือง" ก็ควรต้อง "ทำงานร่วมกัน" ในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างสำนึกในอุดมการณ์-หน้าที่ ว่า "ประชาชน" ถือเป็น "เจ้านาย" ที่เป็นเจ้าของเงินภาษี หรือ "เงินเดือน" ที่จ้าง ทั้ง "ข้าราชการ" และ "นักการเมือง" โดยเฉพาะ "นักการเมือง" ที่ทุกคนไม่ว่า "รัฐบาล" หรือ "ฝ่ายค้าน" ต่างก็ถูกเลือกเข้ามาเป็น "ผู้แทนราษฎร" ทั้งสิ้น

ที่สำคัญ หาก "ประชาชน" ไม่พอใจที่เขาได้รับความเดือดร้อน เขาก็มีสิทธิเช่นกันที่จะ "ไม่จ่ายเงินเดือน" (ภาษี) ให้ หรือ "ไม่เลือก" ซึ่งก็เหมือนกัน คือ เป็นการ "ล้างบาง" ทั้งข้าราชการ และนักการเมือง "ไม่ทำงาน" ได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: