PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

(ย้อนหลัง)ของ(เขย่า)ขวัญปีใหม่2556


ของ(เขย่า)ขวัญปีใหม่2556
บทความ วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ.2556 11:21น.
426251
ผ่านช่วงวันหยุดยาวฉลองปีใหม่ (พ.ศ.2556) ของคนไทยไปแล้ว หลายคนเริ่มกลับมาทำงาน เช่นกัน กับ แวดวงการเมือง กองทัพ ที่เริ่มโหมโรง เร้าสถานการณ์กันตั้งแต่ยังไม่ทันที่หลายคนจะปรับโหมดอารมณ์ ชิล ๆ ส่งของขวัญแห่งความสุข ไปสู่โหมดซีเรียส ว่าด้วย "ความขัดแย้ง" ของ 2 ขั้วอำนาจการเมืองที่ฝั่งลึกมาข้ามปีข้ามชาติ
ไล่เรียงเปิดฉากกันด้วยของขวัญแบบ "เอาคืน" จาก "พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต" รมว.กลาโหม ถึง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ว่าด้วย การถอดยศ ยึดตำแหน่ง จากคดีหนีทหาร มาถึง "ธาริต เพ็งดิษฐ์" อธิบดี DSI ถึง "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัฒน์" ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะครบวาระ 10 ม.ค.นี้ และเป็น ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ กรณีจะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา รถไฟฟ้าแสนล้าน
โหมโรงด้วยการเขย่าขวัญกันแต่วันแบบนี้ เป็น"สัญญาน" ที่ยิ่งทำให้น่ากังวลสถานการณ์การเมืองไทยในปีนี้ โดยเฉพาะ ปัญหา "ความขัดแย้ง" เดิมที่ต่อเนื่องมาหลายปี ระหว่างสองขั้วอำนาจ ที่ฝ่ายหนึ่งผนึกแน่นด้วย "กลุ่มทุน-อำนาจเก่า" ที่เคยขับเคลื่อนผ่านระบบราชการ กองทัพ ล้มอำนาจอีกฝ่าย อีกฝั่งเป็น "กลุ่มทุนใหม่-อำนาจรัฐปัจจุบัน"ที่ชู "ทักษิณ ชินวัตร"
อย่าลืมว่า ฝั่งขั้วอำนาจเก่า มวลชนปักใจอย่างเหนียวแน่นว่า ทุก "ปรากฏการณ์" ความพยายามของรัฐบาลเพื่อไทย โดย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกฯนั้น ซ่อนไว้ ซึ่งการเดินไปสู่ผลประโยชน์ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ"
ดังนั้น ไม่แปลกที่ ประเด็นการแก้ไข "รัฐธรรมนูญ" ของรัฐบาล จะถูกขัดขวาง และถูกมองว่า มีปลายทางอยู่ที่การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกตัว "ทักษิณ" และเครือข่าย ซึ่งนำมาสู่ท่าทีการไม่ยอมรับทุกกระบวนการดำเนินการ แม้แต่การประชามติ ซึ่งประเด็นนี้ จะยังคงเป็นประเด็นความขัดแย้งตลอดปีนี้และตลอดไป
กระนั้น ในประเด็นเฉพาะหน้า ที่อาจส่งผลกระทบระหว่างบรรทัดการเมือง สถานภาพของรัฐบาล หากมีกระบวนการนำไปสู่ การขยายผล และสร้างเงื่อนไข นั่นคือปัญหาเรื่องปากท้องที่เป็นผลพวงมาจาก นโยบายประชานิยมของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการกระเพื่อมตลาดหุ้น ผลักดันการลงทุน ด้วยสารพัดเมกะโปรเจกต์ แผนฟื้นฟูประเทศ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถคันแรก ค่าแรง 300 บาท ที่กำลังส่งผลในมิติเชิง "ลบ"  กับสภาพที่เกิดขึ้นห้วงนี้ อาทิ ผลจากนโยบาย 300 บาท ที่มีผลทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 ที่ผลสวิงกลับ นอกจากกระทบไปยังภาคธุรกิจ SME ยังกระทบไปถึงแรงงาน ที่บริษัทหลายแห่ง เริ่มปิดกิจการลอยแพคนงานที่เป็นชนชั้นรากหญ้า อันเป็นฐานเสียงและมวลชนของพรรคเพื่อไทยเอง ภาพสะท้อนผ่านสื่อที่เริ่มเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ คือ ภาพความเดือดร้อนของบรรดาแรงงานหลายครัวเรือนเป็นทอด ๆ
นี่ อาจเป็นปมเงื่อนไขสำคัญไปสู่ผลกระทบรัฐบาลในปีนี้ เพราะเรื่องปากท้อง ความหิว โดยไม่เคยเข้าใครออกใคร
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ปมเหล่านี้จะถูกจับตาจากหลายฝ่ายว่า รัฐบาลจะจัดการอย่างไรและจะรอดตัวหรือไม่ ?
อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการว่า ปัจจัยตัวแปร ผลกระทบ หรือ ระเบิดเวลาทางการเมือง ที่ควรจับตาในปีนี้ (2556) อาจประกอบด้วย
1.วิกฤติรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเดินหน้าออกเสียงประชามติ หรือ พลิกกลับมาโหวตวาระ 3 ก็ยังเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง เพราะคนจำนวนมากยังเชื่อว่า เป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียว ไม่ใช่เพื่อการปฏิรูปประเทศ
2.กลางปีนี้ ศาลโลก จะตัดสินคดีเขาพระวิหาร หากศาลตัดสินแล้วเป็นประโยชน์กับทางกัมพูชามากกว่าไทย ประเด็นอธิปไตยและดินแดนจะกลับมาเป็นข้อพิพาทอีกครั้ง
3.ปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น
และ 4.ปัญหาวิกฤติพลังงาน ค่าครองชีพ ข้าวยากหมากแพง ปิดโรงงาน เลิกจ้าง ที่ถูกมองว่า สาเหตุเกิดจากความบกพร่อง และล้มเหลวทางนโยบายประชานิยมของรัฐบาล
ที่ทั้งหมดทั้งมวลของเหล่าปัญหานี้ เชื่อมโยงไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่าง 2 ขั้ว ที่แน่นอนย่อมมีการหยิบจับประเด็น ระเบิดเวลา เหล่านี้มา เป็นเงื่อนไขการเมืองเขย่าขวัญคนไทยกันต่อไปตลอดปีนี้

ไม่มีความคิดเห็น: