PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

(ย้อนหลัง2555)เงื่อนไข?


เงื่อนไข?
บทความ วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2555 17:57น.
421090
น่าสนใจยิ่งในบางปรากฏการณ์ระหว่างห้วงเวลาที่คนไทยมีความสุข ที่ได้เห็น ในหลวง เสด็จฯออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางพสกนิกรชาวไทยสวมชุดเหลือง ที่มาคอยชื่นชมพระบารมี ไม่ต่ำกว่าสองแสนคน นับแต่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ทอดยาวไกลไปยังถนนราชดำเนิน จรดสะพานผ่านฟ้าฯ จนเป็นภาพที่สำนักข่าวต่างประเทศ นำเสนอด้วยความทึ่ง ประหลาดใจ ในบรรยากาศความจงรักภักดี ที่คนไทยมีต่อพระเจ้าแผ่นดิน

น่าสนใจที่ระหว่างบรรยากาศความตื้นตันจนน้ำตารื้นของคนไทย ทั้งที่ลานพระรูปฯ และที่ชมผ่านทางโทรทัศน์ ที่ได้เห็นว่า พระองค์ทรงมีพระสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง กลับมีผู้ที่พยายามใช้สถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวนี้ไปใช้ ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น
1. กรณี "หญิงขายสินค้าแดง" ที่มาตั้งร้านขายขอนบริเวณไม่ไกลไปจากบริเวณที่คนมาชุมนุม และถูกรุมด่าอย่างเคียดแค้น
2. กรณีกลุ่มผู้คนสวมเสื้อเหลือง ไม่ไกลจากลานพระรูปฯ ส่งเสียงโห่ฮาด่าทอ ที่อยู่ในช่วงพิธี ระหว่าง "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กล่าวนำข้าราชการถวายพระพรในหลวง
3. กรณีความเข้าใจผิดด่าทอ ระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่มาจากต่างจังหวัดโดยหน่วยงานท้องถิ่น กับกลุ่มประชาชนคนกรุงเทพฯ ที่ไม่พอใจ ที่มีการลุกขึ้นจะเดินทางกลับ ระหว่างที่พิธียังไม่จบ
4. กรณีอาเศียรวาทของ นสพ.มติชน
5. กรณีข้าราชการแสดงความไม่พอใจเดินออกจากห้องประชุมที่ "อดิศร เพียงเกษ" ไปบรรยาย และอีกหลายๆ กรณี ที่มีการตอบโต้กันรุนแรงผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่นับรวมที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว
น่าสนใจในความบังเอิญมากมายอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับช่วงเวลาเหล่านี้ที่ ศูนย์รวมดวงใจชาวไทยทุกฝ่ายทุกสี อยู่ที่ ในหลวง แต่กลับมีความพยายามแยกสลายความหลากสีเหล่านี้ออกด้วย เจตนาแห่งการนำไปสู่ "เงื่อนไข" ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 - 2549
เป็นเงื่อนไขที่ต่างฝ่ายต่าง "อ้าง" ใน "ความจงรักภักดี" ของฝ่ายตน เพื่อกระทำกับอีกฝ่าย ก่อนที่ฝ่ายหนึ่งที่ชนะใน"เงื่อนไข" จะนำสิ่งเหล่านี้ไป "ต่อยอด" ผ่านกลไก "ไม่ปกติ" เพื่อพลิกกลับสลับอำนาจทางการเมือง โดยใช้"กองทัพ" เข้ามาเป็น "ตัวแปร" การขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลง
น่าสนใจในความคล้ายคลึงของสถานการณ์แบบนี้ ที่มีลำดับขั้นตอน เป้าประสงค์ ตัวละคร ของผู้เกี่ยวข้องในการวาง "บท" อันหมิ่นเหม่เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง หวังผล ที่ล้วนแล้วแต่เปิดหน้าชัดเจนตั้งแต่ครั้งการเคลื่อนไหวของ "เสธ.อ้าย"แล้ว
น่าสนใจที่ทุกคน มุ่งหมายการแย่งชิงอำนาจ มุ่งหมายในการปกป้องตนและพวกพ้อง ให้อยู่รอดปลอดภัยไร้มลทินใด โดยไม่สนใจแม้กระทั่งความไม่เหมาะไม่ควร ที่แม้กระทั่งบางคนยังเคยบอกว่า ไม่ควรใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือ หรือเงื่อนไขของการสร้างสถานการณ์อีก เพราะทุกอย่าง ทุกเหตุการณ์ที่เคยเกิดเหล่านี้ ถูกจดจารไว้แล้วว่า หากเกิดขึ้นอีก มันจะหนักและจะไม่สามารถหยุดได้
ที่สำคัญ ทุกคนทราบดีในหมุดหมายเส้นทางความเป็นไปที่จะเกิดขึ้น แม้กระทั่ง "ความแตกแยก" ในหมู่เหล่าของคนไทยที่เคยเป็นมาแล้ว ทุกคน ทุกฝ่าย ที่อยู่เบื้องหลังการวางเกม "ไม่ปกติ" เหล่านี้ ในจังหวะถัดไปจากนี้ จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2555 ที่เตรียมมีการเคลื่อนขยับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างคาในวาระ 3 ต่อ
เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ที่ฝ่ายค้าน และหลายฝ่าย ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และมีความพยายามเคลื่อนไหวสกัดทั้งเกมหนักในสภา และเกมนอกสภา ไปจนถึงองค์กรอิสระตรวจสอบ
เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกระบุว่ายังทำไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบการลงประชามติของประชาชน และหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ควรต้องมีการทำประชามติ สอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน

เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการรณรงค์ฝังชิพความคิดไว้แล้วว่า จะเกิดความขัดแย้ง แตกแยกของคนไทย เพราะที่รัฐบาลจะทำนั้น ประชาชนล้วนรู้ดีว่า เป้าหมาย "ทำเพื่อคนคนเดียว" รวมไปถึงวาทกรรม ปฏิบัติการนี้ เป็นการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" และเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

ขณะเดียวกัน ก็น่าสนใจในท่าทีรัฐบาล ที่เดินหน้าจะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้เช่นกัน โดยมีการดึงแนวร่วม "พรรคภูมิใจไทย" เข้ามาเพิ่มเสียงให้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา หรือลุ้นเสียงจาก ส.ว. ที่อีกฝ่ายอำนาจ ออกแบบไว้ในปี 2550 ให้มากันท่า นักการเมืองโดยเฉพาะขั้วตรงข้ามอำนาจเก่า
กระนั้นก็น่าสนใจ อีกทัศนะที่เกิดขึ้นของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" (3/12/12) ก่อนหน้าที่ DSI จะเร่งคดีฟ้องเขากับ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ที่ว่า "จะเกิดความวุ่นวายเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งที่รัฐบาลเห็นอยู่ว่า สังคมรับไม่ได้ และอาจเกิดความวุ่นวายขึ้น"
น่าติดตามยิ่งว่า "จุดบรรจบ" ที่กำลังดำเนินไปสู่วันที่ 10 ธ.ค. และไปสู่วันเปิดประชุมสภา 21 ธ.ค. ที่บางส่วนได้ดำเนินมาแล้วหลังวันแห่งความสุข 5 ธ.ค. จะถูกนำมาเป็น "เงื่อนไขใหม่" ในรูปแบบเก่า จากเหล่าผู้อ้างตนว่าจงรักภักดี รักประเทศชาติ ทั้งหลาย จะเป็นอย่างไรต่อไป
แต่ที่น่าสนใจในข้อเท็จจริงที่ควรสังเคราะห์ต่อไปจากนี้เช่นกันว่า ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญเป็นสาเหตุของความวุ่นวายจาก"กลไก" หรือ "ใคร" ในเหล่าบรรดา "นักการเมือง" และผู้อยู่ข้างหลังนักการเมือง และหลังอำนาจการเมือง ที่ชอบสร้าง "เงื่อนไข" บนความขัดแย้งเหล่านี้ เพราะอะไร เพื่อใคร?

ไม่มีความคิดเห็น: